ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาคปชช.จี้ผู้ว่าฯสงขลายกเลิกคำสั่งห้ามผู้เห็นต่างร่วมเวที ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-ตร.เตรียมกำลัง 400 นายคุมเวที

สิ่งแวดล้อม
26 ก.ค. 58
15:24
162
Logo Thai PBS
ภาคปชช.จี้ผู้ว่าฯสงขลายกเลิกคำสั่งห้ามผู้เห็นต่างร่วมเวที ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-ตร.เตรียมกำลัง 400 นายคุมเวที

ภาคประชาชนยื่นหนังสือเพื่อให้ผู้ว่าฯสงขลายกเลิกคำสั่งห้ามผู้มีความเห็นต่างเข้าร่วมเวที ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขณะที่มีการจัดกำลังตำรวจ 400 นาย คุมเวที ค.3 โรงไฟฟ้าเทพา โดยผู้ว่าฯสงขลา มีอำนาจเต็มในการสั่งการ

วันนี้ (26 ก.ค.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนประชาชนเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาถ่านหินเดินทางเข้าพบนายธํารงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเพื่อยื่นหนังสือให้ยกเลิกคำสั่งที่ 2941/2558อ้างถึง คำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ที่ 2941/2558 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2558

เนื้อหาส่วนหนึ่งของคำสั่งดังกล่าวคือ ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็นต่างเข้าไปชุมนุมเคลื่อนไหวหรือดำเนินการด้วยประการใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่บริเวณอาคารที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นสถานที่จัดเวที ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนถ่านหินเทพาจ.สงขลา เว้นแต่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาต หรือผู้ที่ได้รับคำสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ระหว่างเวลา 01.00 น. ของวันที่ 26 ก.ค.2558 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 28 ก.ค.2558 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามนัยแห่งมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2558 สั่ง ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2558

ด้านนาย อิสดาเรส หะยีเด รองนายก เทศมนตรี ต.เทพา จ.สงขลา ตัวแทนชุมชนที่เดินทางมายื่นหนังสือ กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ทางเครือข่ายได้รับทราบและมีความเห็นว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายขัดต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสิทธิของชุมชนที่จะมีส่วนร่วมกับหน่วยงานรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลักการคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการใช้ประโยชน์และคุ้มครองรักษาทรัพยากรและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นของตน อันเป็นสิทธิที่บัญญัติรับรองไว้ตามความในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ทั้งอาจไม่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติราชการที่ดีอันเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

นายดาเรส กล่าวเพิ่มเติมว่า ดังรายละเอียดของบทบัญญัติ 1.กระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นกระบวนการตามบทบังคับของกฎหมายให้ผู้ดำเนินโครงการมีหน้าที่ในการจัดทำเพื่อขออนุมัติให้ความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการดำเนินโครงการ ดังนั้นหน่วยงานของรัฐในทุกระดับชั้น จึงไม่มีความเหมาะสมใด ๆ ที่จะแสดงท่าทีไปในทางสนับสนุนหรือผลักดันให้มีการดำเนินโครงการดังกล่าวไว้ล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปและวินิจฉัยว่าโครงการนั้น ๆ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ เพียงใด การมีคำสั่งดังกล่าวของผู้ว่าฯย่อมมีผลในทางกดดันเครือข่ายและกลุ่มผู้มีความเห็นต่างในการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ

2.การมีคำสั่งฉบับดังกล่าวอ้างว่า กลุ่มผู้เห็นต่างอาจเข้าไปก่อให้เกิดความไม่สงบ ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินจึงห้ามเข้าไปชุมนุมหรือเข้าไปกระทำการใด ๆ บริเวณที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ปากบางและปริมณฑล อันเป็นสถานที่จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า เป็นความพยายามที่จะกีดกันเครือข่ายและกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าไม่ให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นย่อมไม่เป็นผลดีกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในวันจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจริงมีแต่เพียงกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการและผู้ดำเนินโครงการแต่เพียงฝ่ายเดียวที่ได้เข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็น ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนทั่วไปว่า ทางราชการมีการเลือกปฏิบัติเพื่อมุ่งสนับสนุนการดำเนินโครงการของผู้ประกอบกิจการเท่านั้นทั้งยังจะมีผลทำให้กระบวนการทบทวนร่างรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3.ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ทางการปกครองในการสร้างความสามัคคีและลดความขัดแย้งช่วยให้ความเห็นต่างได้มีโอกาสแสดงออก โต้แย้งกันอย่างมีเหตุผลสอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐที่มุ่งการสมานฉันท์ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกิจการบ้านเมือง ในกรณีนี้ การมีคำสั่งดังกล่าวของผู้ว่าฯ จังหวัดสงขลาจึงขัดต่อหลักการดังกล่าวข้างต้น ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใด ๆ ว่าเครือข่ายและกลุ่มผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาได้เคยมีการใช้ความรุนแรงหรือประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใดตามที่กล่าวอ้างในคำสั่งนั้น

4.ถ้อยคำที่ใช้ในคำสั่งเป็นการกล่าวหาใส่ร้ายเครือข่าย กลุ่มผู้เห็นต่าง และกลุ่มผู้คัดค้านโครงการ ทำให้ประชาชนผู้ได้ทราบคำสั่งดังกล่าวเกิดความเข้าใจผิดว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้มีความมุ่งหมายจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือรัฐ ก่อความรุนแรง และประสงค์จะขัดขวางการบริหารราชการแผ่นดิน เครือข่ายเห็นว่า หากผู้ว่าฯ มีข้อมูลและข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ยืนยันการกระทำดังกล่าวซึ่งถือได้ว่าเป็นความผิดทางอาญาอย่างร้ายแรง ผู้ว่าฯควรที่จะเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าวให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ทางเครือข่ายขอเรียกร้องให้ท่านผู้ว่าฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยชี้แจงเครือข่ายและสาธารณชนว่าข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้ว่าฯ ได้รับรายงานจากผู้ใดหรือเจ้าหน้าที่หน่วยราชการใด เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เครือข่ายที่ได้รับความเสียหาย

ด้านนาย ดิเรก เหมนคร เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาถ่านหิน กล่าวว่า เครือข่ายเห็นว่าทางออกที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากคำสั่งฉบับดังกล่าวที่อ้างถึงของผู้ว่าฯสงขลา ซึ่งมีเหตุผลชัดแจ้งเพียงพอแล้วว่า ไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย จึงควรแก้ไขโดยการประกาศยกเลิกคำสั่งฉบับดังกล่าวและเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ขอให้ผู้ว่าฯสงขลายกเลิกการปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุม รวมทั้งเสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและคณะผู้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทบทวนกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและชุมชนกันเสียใหม่ให้ถูกต้องตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงตั้งแต่เริ่มต้น

นายดิเรก กล่าวเพิ่มเติมว่า หากคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกยกเลิก การจัดรับฟังความคิดเห็นที่จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 27-28 กรกฎาคม 2558 ย่อมไม่มีบรรยากาศของการหารือ ถกเถียง เพื่อหาทางออกของโครงการได้อย่างเหมาะสมเพียงพอ เครือข่ายจึงจะไม่เข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นดังกล่าว โดยเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขนาด 2,200 เมกกะวัตต์ อันเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า การใช้พลังงานถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าจะก่อให้เกิดมลพิษเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและวิถีชีวิตของชุมชนอย่างรุนแรง
ทางเครือจึงได้เดินทางมาขอพบผู้ว่าเพื่อขอให้ผู้ว่ายกเลิกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายดังกล่าว

ด้าน น.ส.สุดาภรณ์ พรหมอินทร์ จากศูนย์ดำรงธรรม ตัวแทนผู้ว่าฯออกมารับหนังสือหนังสือเครือข่ายฯ หลังจากรับหนังสือจากทางเครือข่าย ได้กล่าวว่าจะนำหนังสือไปเรียนผู้ว่าให้ทราบข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ สำหรับหนังสือที่ฉบับดังกล่าวขอชี้แจงว่า เป็นหนังสือที่ผู้ว่าฯไม่ได้ร่างด้วยตนเอง ทางปกป้องกันจังหวัดเป็นผู้ร่างหนังสือ ผู้ว่าฯไม่ได้อ่านหนังสือด้วย

ด้าน พล.ต.ต.อัมพร บัวรับพร ผู้บังคับการตำรวจภูธรสงขลา เปิดเผยว่าได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 400 นาย เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยการจัดประชุมเวที ค.3 โรงไฟฟ้าเทพา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ซึ่งในจำนวนนี้มี 150 - 200 นาย จะปฏิบัติการในพื้นที่ที่จัดการประชุม โดยนายธํารงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีอำนาจเต็มในการสั่งการ

พล.ต.ต.อัมพร กล่าวว่า คาดว่าจะมีชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าเทพาเข้าไปแสดงความคิดเห็น แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะผ่านไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตาม หากชาวบ้านมีพฤติกรรมปลุกระดม หรือนำไปสู่ความวุ่นวายต่างๆ ก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตามที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ออกประกาศไป

"การสั่งการทั้งหมดเป็นดุลพินิจของ ผู้ว่าฯสงขลา ซึ่งจะมีกำลังตำรวจเป็นหลักและมีกำลังทหารคอยสนับสนุน ยืนยันว่าถ้าไม่ทำผิดกฎหมาย หรือก่อความวุ่นวาย ก็สามารถรวมตัวกันได้" พล.ต.ต.อัมพร กล่าว

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของพื้นที่ ให้ไปถาม ผู้ว่าฯสงขลา เอง เพราะถ้าทุกอย่างเกิดที่อำเภอนั้น จังหวัดนี้ แล้วถามมาที่ส่วนกลางหมด ประเทศไทยก็คงมีแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนเดียวเท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง