ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดโครงสร้าง-อำนาจพิเศษ "คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองฯ"

การเมือง
12 ส.ค. 58
15:33
301
Logo Thai PBS
เปิดโครงสร้าง-อำนาจพิเศษ "คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองฯ"

เมื่อวานนี้ (11 ส.ค.2558) ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีข้อสรุปเกี่ยวกับองค์กรที่จะทำหน้าที่ด้านการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง โดยให้มี "คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ" จำนวนไม่เกิน 23 คน ซึ่งมาพร้อมกับอำนาจหน้าที่พิเศษในการยับยั้งเหตุความขัดแย้งหรือสถานการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงของประเทศภายในระยะเวลา 5 ปี หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

อำนาจพิเศษที่ว่านี้เป็นการบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลเพื่อเป็นทางออกในภาวะที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตความขัดแย้งหรือมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคง เช่น เหตุการณ์ก่อนการรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค.2557 บทบัญญัตินี้มีเจตนาให้มีทางออกโดยหลีกเลี่ยงวิธีการที่อยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ โดยใช้อำนาจผ่านมติ 2 ใน 3 ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เท่าที่มีอยู่ภายหลังจากหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครองสูงสุด

การใช้อำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ในลักษณะดังกล่าว เป็นอำนาจที่สามารถแก้ไขปัญหาแทนรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีในภาวะที่ไม่สามารถบริหารจัดการหรือระงับยับยั้งเรื่องใดๆ ได้ตามปกติ ซึ่งอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์นี้จะมีผลทั้งด้านนิติบัญญัติและด้านบริหารแต่ไม่รวมถึงผลทางตุลาการ ดังนี้
-จัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี
-เชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคณะกรรมการอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล
-แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยปฏิบัติงาน
-ดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ที่มาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ทั้ง 23 คน ประกอบด้วย
1.ประธานและกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการเหล่าทัพ
2.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยดำรงตำแหน่ง ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา
3.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งตามมติรัฐสภา ซึ่งคล้ายกับแนวทางในคำขอแก้ไขของคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แถลงรายละเอียดข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ในช่วงค่ำเมื่อวานนี้ (11 ส.ค.) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากอำนาจที่กำหนดไว้แล้ว อาจกล่าวได้ว่าบทบัญญัตินี้เปิดช่องให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์มีอำนาจเหนือรัฐบาลภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

นอกจากนี้ นายบวรศักดิ์ยังได้เสนอความเห็นส่วนตัวว่าให้ตั้งคำถามในการทำประชามติว่าต้องการให้ตั้ง "รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ" เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งหรือไม่ ซึ่งในวันนี้ (12 ส.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้แสดงความเห็นต่อข้อเสนอดังกล่าวว่า ตนไม่มีปัญหาต่อแนวคิดนี้ แต่จะดำเนินการได้หรือไม่ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพรรคการเมืองต่างๆ ต้องตกลงกัน

พล.อ.ประวิตรยังระบุถึงกระแสข่าวการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ต้องใช้ดุลยพินิจอย่างดีที่สุดเพราะไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่ สปช.ก็ต้องพ้นจากหน้าที่ไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว

วันพรุ่งนี้ (13 ส.ค.2558) สปช.จะนำเสนอแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่งคั่ง มั่นคงและยั่งยืน ในปี 2575 ซึ่งจะมีการนำเสนอวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ ภายใต้แผนนี้ตั้งเป้าหมายให้ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องอาศัยการปฏิรูปใน6 ประเด็นสำคัญ คือ ระบบการเลือกตั้งที่สุจริตยุติธรรม, กลไกป้องกันและขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบ, การบังคับใช้กฎหมาย, การขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม, การสร้างกลไกของรัฐที่มีประสิทธิภาพ, และการสร้างคุณภาพคนและพลเมือง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง