คำบอกเล่าจากผู้สูญเสีย
ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ กทม.ระบุว่า มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ทั้งสิ้น 127 คน และมีผู้เสียชีวิต 20 คน (ข้อมูลวันที่ 20 ส.ค.2558) ผู้เสียชีวิตเป็นคนไทย 6 คน, มาเลเซีย 4 คน, จีน 4 คน, ฮ่องกง 2 คน, อินโดนีเซีย 1คน, สิงคโปร์ 1คน และยังไม่ทราบสัญชาติ 2 คน
ผู้เสียชีวิตชาวไทย 6 คน เป็น ผู้หญิง 4 คน ผู้ชาย 2 คน ซึ่งครอบครัวของพวกเขาต่างกำลังรับมือกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน ผู้เสียชีวิตบางคนเป็นเสาหลักของครอบครัว เป็นสามี เป็นแม่ และเป็นลูกที่พ่อแม่หวังพึ่งยามแก่ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เคราะห์ร้ายบางคนในโศกนาฏกรรม 17 สิงหาคม
"วราภรณ์ ช่างทำ" นักธุรกิจผู้เป็นเสาหลักของครอบครัว
วราภรณ์เป็บุตรสาวคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 6 คน ของ นางปิ่น ช่างทำ ที่กล่าวได้ว่าเธอผู้นี้คือเสาหลักของบ้าน โดยนางปิ่นเล่าว่า บุตรสาวคือความประทับใจที่ผู้เป็นแม่จะไม่ลืม เพราะเป็นคนห่วงใยคอยดูแลครอบครัวมาโดยตลอด เครื่องใช้ในบ้านรวมถึงบ้านหลังที่อยู่อาศัญก็มาจากน้ำพักน้ำแรงของ น.ส.วราภรณ์
ทั้งนี้ ความทรงจำที่ดีที่ครอบครัวได้อยู่ร่วมกับวราภรณ์เป็นครั้งสุดท้าย คือวันแม่ที่ 12 ส.ค.2558 ที่ลูกสาวคนเล็กนำพวงมาลัยมามอบให้แม่ ส่วนภาพสุดท้ายที่ครอบครัวได้เห็นหน้ากันคือภาพที่ น.ศ.วราภรณ์ ส่งเข้าโปรแกรมสนทนากลุ่มครอบครัวเพียงไม่กี่นาที ก่อนที่เธอจะพาเพื่อนชาวฮ่องกงไปสักการะท้าวมหาพรหม หน้าตึกเอราวัณ และเสียชีวิตจากเหตุระเบิด
"น้ำอ้อย แสงจัง" มาขอพรที่ศาลพระพรหมให้แม่หายป่วย
น้ำอ้อยเป็นพนักงานขายบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เย็นวันที่ 17 ส.ค.เธอตั้งใจมาสักการะศาลท้าวมหาพรหม เพราะต้องการขอพรให้พ่อแม่หายป่วยจากโรคอัมพฤกษ์ แต่การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ น.ส.น้ำอ้อย ทำให้สามีของเธอรู้สึกกังวลกับอนาคตของลูกทั้ง 2 คน ที่มีอายุเพียง 7 ขวบและ 3 ขวบ เพราะจากนี้ไปต้องรับภาระดูแลลูกเพียงลำพัง
"ปราณี สีสุวะ" และ "สุดชาดา นิสีดา" เสียชีวิตพร้อมเพื่อน
น.ส.ปราณี สีสุวะ พนักงานธนาคาร ชาวบึงกาฬที่ต้องมาจบชีวิตลงพร้อม น.ส.สุดชาดา นิสีดา ชาวเชียงคาน จ.เลย เพื่อนร่วมงาน เพราะชวนเดินทางไปไหว้ศาลท้าวมหาพรหมเพื่อต้องการหาที่พึงทางใจ ในเส้นทางที่ใช้กลับบ้านเป็นประจำ โดยญาติของผู้เสียชีวิตทั้งสองคน ยังทำใจไม่ได้กับการจากไปอย่างกระทัน โดยเฉพาะ น.ส.สุดชาดา ที่มีลูกสาวยังเล็กให้คอยดูแล
"ยุทธณรงค์ สิงห์รอ" ทิ้งภรรยาไว้เบื้องหลัง
ขณะที่ น.ส.กฤษสุดา ณรงเปลี่ยน ภรรยาของ นายยุทธณรงค์ สิงห์รอ ผู้เสียชีวิตชาวไทยอีกคนหนึ่งเผยว่า หลังจากการพูดคุยครั้งสุดท้ายช่วงหัวค่ำของวันเกิดเหตุ ว่าสามีกำลังขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อกลับบ้าน แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จนกระทั่งเช้าวันถัดมาถึงรู้ว่าหัวหน้าครอบครัวที่อยู่ด้วยกันมา 6 ปี ได้จากไปแล้ว เธอไม่รู้ว่าจากนี้จะชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไป
“สุวรรณ สัตย์มั่น” คนดีที่ภูมิใจ..เสียงอาลัยจากมารดา
ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่แจกจ่ายธูปเทียนและดอกไม้แก่ผู้มาสักการะกราบไหว้ศาลเท้ามหาพรหม นายสุวรรณ สัตย์มั่น หนุ่มราชบุรี จึงถูกลูกหลงโดนแรงอัดระเบิดเข้าที่บริเวณช่องท้องจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งสร้างความโศกเศร้าให้กับ นางสายทอง สัตย์มั่น มารดา ที่ไม่ได้ทันได้เตรียมใจ เนื่องจากลูกชายเพิ่งกล่าวคำว่าคิดถึงและอยากกลับบ้านไปกอดแม่
ด้วยความที่เป็นคนนิสัยดี เสมอต้นเสมอปลายกับครอบครัวและญาติๆ ขยันทำงาน สร้างบ้านให้พ่อแม่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จึงทำให้นางสายทองเอ่ยว่าภูมิใจในตัวลูกชายคนนี้ที่สุด เมื่อถึงเวลาจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ เขาจึงยังอยู่ในใจของทุกคน
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- bangkokbomb
- StrongTogether
- thaipbs
- Thaipbsnews
- กทม.
- กรุงเทพฯ
- ก่อการร้าย
- นายสุวรรณ สัตย์มั่น
- น้ำอ้อย แสงจัง
- ปราณี เร่งงาน
- ผลกระทบระเบิดราชประสงค์
- ผู้สูญเสียระเบิดราชประสงค์
- ผู้เสียชีวิตชาวไทย6คน
- ยุทธณรงค์ สิงห์รอ
- ระเบิด
- ระเบิดราชประสงค์
- รายชื่อผู้เสียชีวิตระเบิดราชประสงค์
- ลอบวางระเบิด
- วราภรณ์ ช่างทำ
- ศาลท้าวมหาพรหม
- ศาลพระพรหม
- สี่แยกราชประสงค์
- สุชาดา นิสีดา
- ไทยพีบีเอส