ศาลปกครองสงขลานัดเดินเผชิญสืบพรุ่งนี้ ตัดสินโครงการเขื่อนกั้นทรายหาดชลาทัศน์
วันนี้ (25 ส.ค.2558) เวลา 13.00 น. ศาลปกครองสงขลา เริ่มการพิจารณาตามการนัดไต่สวนฉุกเฉิน ขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราวหยุดก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ โดยผู้ฟ้องทั้ง 4 มาศาล ขณะที่หน่วยงานราชการผู้ถูกฟ้องส่งตัวแทนมาศาล เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ไม่มาศาล ส่งโยธาธิการจังหวัดมาแทน ซึ่งศาลไต่สวนเสร็จสิ้นเวลาประมาณ 17.00 น. ก่อนจะนัดเดินเผชิญสืบบริเวณพื้นที่โครงการที่ถูกร้องเรียน เวลา 10.00 น. วันที่ 26 ส.ค.
สำหรับกรณีดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. กลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ อ.เมือง จ.สงขลา เข้ายื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง โดยเนื้อหาในคำฟ้องสรุป ว่า ผู้ฟ้องคดีประกอบด้วย ผู้ฟ้องคดีที่ 1 สงขลาฟอรั่ม โดยนางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการ ในฐานะตัวแทนของสงขลาฟอรั่ม และในฐานะส่วนตัว
ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ชมรม Beach for life โดยนายอภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานชมรม ในฐานะตัวแทนของชมรม Beach for life และในฐานะส่วนตัว ผู้ฟ้องคดีที่ 3 กลุ่ม Crescent Moon lawyers (กลุ่มว่าที่นักกฎหมายอาสาฯ) โดยนางสาวอลิสา บินดุส๊ะ ผู้ประสานงานกลุ่ม ในฐานะตัวแทนของกลุ่ม Crescent Moon lawyers (กลุ่มว่าที่นักกฎหมายอาสาฯ) และในฐานะส่วนตัว ผู้ฟ้องคดีที่ 4 กลุ่มประมงพื้นบ้านชุมชนเก้าเส้ง โดยนายสมพล ดีเยาะ รองประธานกลุ่ม ในฐานะตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้านชุมชนเก้าเส้ง และในฐานะส่วนตัว
ผู้ถูกฟ้องคดีประกอบด้วย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 กรมเจ้าท่า และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 เทศบาลนครสงขลา
ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้ร่วมกันยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา เพื่อให้มีการระงับและยกเลิกโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา – ชลาทัศน์ เขตเทศบาลนครสงขลา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา ซึ่งโครงการดังกล่าวมีการก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 และตามโครงการจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2558 ผู้ฟ้องเห็นว่า หากปล่อยให้มีการดำเนินโครงการจนแล้วเสร็จ จะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชายหาดชลาทัศน์
โดยมีข้อหาว่า การดำเนินการตามโครงการนี้ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ความไม่ชอบด้วยกฎหมายในการดำเนินโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คือ 1.ความไม่ชอบด้วยกฎหมายในเชิงกระบวนการ 1.1.ความบกพร่องในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนและไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจโครงการ 1.2.ไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามกฎหมาย 1.3.มิได้ดำเนินการให้ถูกต้องในการขออนุญาตหรืออนุมัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนการดำเนินโครงการ ไม่มีการดำเนินการขออนุญาตจากกรมเจ้าท่าเพื่อดำเนินการดูดทรายขุดลอกในทะเล และการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำ ไม่มีการดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบนชายหาดชลาทัศน์ไม่มีการดำเนินการขออนุญาตเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่สาธารณะประโยชน์
2.ความไม่ชอบด้วยกฎหมายในเชิงเนื้อหาสาระ 2.1 การดำเนินการตามโครงการนี้ไม่อาจบรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายหาด 2.2 ;bธีการดำเนินการตามโครงการมีความไม่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาของหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ (1.วิธีการเติมทราย 2.โครงสร้างคันดักตะกอน) 2.3 การดำเนินโครงการดังกล่าว ขัดแย้งกับการศึกษาวิจัยและความต้องการของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นเมืองสงขลา
การละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ การดำเนินโครงการตามฟ้อง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีและเป็นการกระทบต่อสิทธิตามบทบัญญัติมาตรา 66 และมาตรา 67 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 การดำเนินโครงการตามฟ้องจะก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมระยะยาวต่อทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งเห็นได้จากเอกสารทางวิชาการ การฟ้องคดีในที่อื่น และคำพิพากษา
สรุปผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 1.ผลกระทบทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่ง 2.ผลกระทบทางด้านการประกอบอาชีพประมง และอาชีพที่ต่อเนื่องกับประมง 3.ผลกระทบทางด้านสังคม 4.ผลกระทบทางด้านจิตใจต่อผู้ฟ้องคดีและประชาชนทั่วไป
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นได้ว่า โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ เขตเทศบาลนครสงขลา ที่ดำเนินงานโดย ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ฟ้องคดีที่ 1 ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นโครงการที่ดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชายหาด ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้เข้าใช้ประโยชน์ในการเข้าพักผ่อนหย่อนใจ เข้าใจประโยชน์ในการทำการประมงหน้าชายหาด ทำให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงได้รับความเสียหาย อันถือเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ จึงขอศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษา ดังนี้ 1.ให้มีคำพิพากษาว่า โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา – ชลาทัศน์ เขตเทศบาลนครสงขลา ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินโครงการทั้งหมด
2.ให้มีคำพิพากษาว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกัน รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา – ชลาทัศน์ เขตเทศบาลนครสงขลา ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกจากหาดสมิหลาบริเวณหาดชลาทัศน์ทั้งหมด และให้ปรับสภาพพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยงบประมาณของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า
3.ให้มีคำพิพากษาว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันดำเนินการจัดทำโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดบริเวณหาดสมิหลา ด้วยให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนรวมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ และให้เป็นไปตามหลักวิชาการที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล
4.ให้มีคำพิพากษาว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสมและจริงจัง จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งชายหาดสมิหลาทั้งหมด ในจังหวัดสงขลา
5.ให้พิพากษาว่า ในการดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ตามข้อ 2.ในการฟื้นฟูสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องใช้ระยะเวลาภายในการดูแลรักษาฟื้นฟู ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพื้นที่ชายฝั่งหาดสมิหลา – ชลาทัศน์
โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ เพื่อไม่ให้การดำเนินการตาม ข้อ 2.ไม่เป็นการกระทำละเมิดซ้ำและฟื้นฟูได้อย่างจริงจัง โดยก่อตั้งเป็น “กองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพื้นที่ชายฝั่งหาดสมิหลา-ชลาทัศน์” ในงบประมาณของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า ในวงเงิน 20,000,000 บาท (ยี่สิบล้านบาทถ้วน) โดยให้ตัวแทนของผู้ฟ้องคดีและตัวแทนของประชาชนเป็นกรรมการในการบริหารจัดการกองทุน โดยการกำหนดรายละเอียดวิธีการบริหารจัดการกองทุนจะต้องมีการะบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
และในวันเดียวกันนี้ นอกจากจะได้มีการยื่นคำฟ้องแล้ว ยังได้มีการขอให้ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เพื่อให้ชะลอการก่อสร้างไว้ ด้วยการขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน โดยคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยสรุปคือ 1.ขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษา ด้วยการขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 หยุดการดำเนินโครงการไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
โครงการตามฟ้องได้มีการ ดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่มิถุนายน 2558 ด้วยการดำเนินการดูดทรายขึ้นมาบนชายฝั่งเพื่อมาใส่รอดักทราย และมีการก่อสร้างโครงการเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแท่งคอนกรีตเพื่อเป็นแนวกั้น แล้วนำทรายมาถม การตัดถนนลงไปบนชายหาดเพื่อให้รถบรรทุกหนัก และเครื่องยนต์เข้าไปทำงานในพื้นที่ชายหาดได้ ผู้ฟ้องคดีขอเรียนว่า หากปล่อยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ดำเนินโครงการก่อสร้างต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา การก่อสร้างโครงการก็จะเสร็จไปก่อน เพราะกำหนดตามโครงการต้องแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2558 จะทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และชุมชน บริเวณหาดสมิหลา-หาดชลาทัศน์ ทำให้ชายหาดได้รับความเสียหาย อย่างยิ่ง และไม่อาจที่จะฟื้นฟูกลับให้คืนสู่สภาพเดิมได้ เพราะเมื่อสร้างเสร็จแล้ว การจะรื้อถอนโครงการก็ต้องใช้งบประมาณและจะทำให้เกิดความเสียหายซ้ำสอง
2.ขอให้ศาลได้โปรดไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวแก่ผู้ฟ้องคดี ด้วยการให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้ชะลอการดำเนินการก่อสร้าง โครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดสมิหลา – ชลาทัศน์ เขตเทศบาลนครสงขลา ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น และเนื่องจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ได้ดำเนินการถมดินทำถนนเข้าไปในพื้นที่ชายหาดเพื่อเอาเครื่องจักรหนักเข้าดำเนินโครงการ ที่เป็นโครงสร้างแข็ง หากรอให้มีการดำเนินการจนแล้วเสร็จ หากต้องมีการรื้อถอนจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนราชการ และส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การสูญเสียงบประมาณในการก่อสร้าง และการสูญเสียงบประมาณที่ต้องกลับมารื้อถอนฟื้นฟูอีกด้วยนอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีขอศาลได้โปรดลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เห็นถึงความเสียหายของพื้นที่ประกอบการพิจารณามีคำสั่งขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว อีกส่วนหนึ่งด้วย
กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl