ตรวจสอบเส้นทางงบฯ เทศบาล ต.น้ำก่ำ ค้างจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3 เดือน สถ.ยันจัดสรรให้ตามจำนวนแล้ว
เอกสารบันทึกข้อความที่นางนภัทร นิรัตโยธิน ผู้อำนวยการกองคลัง เทศบาลตำบลน้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม บันทึกไว้ 2 ฉบับ ในช่วงปี 2557 และ 2558 เนื้อหาบางส่วนระบุว่าไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของฝ่ายบริหาร และยังอ้างว่าจำเป็นต้องลงลายชื่อเพื่ออนุมัติงบประมาณ เนื่องจากถูกบังคับข่มขู่
เอกสารทั้ง 2 ฉบับ ที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์อยู่ในขณะนี้ ทำให้นายอติชาติ อุณหเลขกะ นายอำเภอธาตุพนม เตรียมตรวจสอบย้อนหลังเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณว่าเป็นไปอย่างโปร่งใสหรือไม่ และขณะนี้เทศบาลตำบลน้ำก่ำกำลังถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีท้องถิ่นจ.นครพนม เป็นประธาน กรณีค้างจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยคนพิการมานาน 3 เดือน รวมเป็นเงินกว่า 3 ล้านบาท
ทั้งที่ก่อนหน้านี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ทยอยโอนเงินประจำปีงบประมาณ 2558 มาให้กับเทศบาลแล้วรวมเป็นเงินกว่า 11 ล้านบาท แต่กลับไม่นำเงินมาจ่ายให้กับผู้สูงอายุและผู้พิการเกือบ 1,400 คน
ด้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยืนยันว่าได้จัดสรรงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปี 2558 ให้กับเทศบาลตำบลน้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ไปหมดแล้ว ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการค้างจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในพื้นที่มานานกว่า 3 เดือน
ตัวเลขที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สรุปออกมาส่งให้กรมบัญชีกลาง จัดสรรงบประมาณต่อให้เทศบาลตำบลน้ำก่ำ ย้อนหลัง 3-4 เดือน หรือช่วงเวลาที่ผู้สูงอายุในตำบลน้ำก่ำอ้างว่ายังไม่ได้รับเงิน จะเห็นตัวเลขที่สัมพันธ์กับจำนวนคน คนที่อายุ 60-69 ปี ได้ 600 บาท 70-79 ได้ 700 บาท 80-89 ได้ 800 และ 90 ปีขึ้นไปเหมาจ่าย 1,000 บาท
ตัวเลขทั้งปี 2558 จำนวนผู้สูงอายุกว่า 1,400 บาท จ่ายไปแล้วกว่า 11 ล้านบาท นี่คือข้อมูลแรกจากการเปิดเผยของ สถ. ที่ตรงกันข้ามกับนายกเทศมนตรีตำบลน้ำก่ำที่บอกว่าได้รับงบประมาณมาแค่ 9 ล้านบาท คำถามคือส่วนต่างกว่า 2 ล้านบาทตกหล่นที่ไหน
นายราม จินตมาศ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการจัดสวัสดิการ กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีเงินเพียงที่เทศบาลตำบลน้ำก่ำเพียงแห่งเดียว ถ้าจะเป็นก็ต้องเป็นทั้งประเทศ พร้อมระบุว่าการจัดสรรงบประมาณจะใช้วิธีการโอนงบประมาณไปยังบัญชีตรงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่
"จะเป็นเฉพาะที่เทศบาลตำบลน้ำก่ำที่เดียวที่บอกว่าไม่ได้เงินเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นการโอนเงินไปยังบัญชีของเทศบาลและ อบต.โดยตรง" นายราม กล่าว
การรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องลงทะเบียนในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และล่วงหน้า 1 ปี เช่น คนที่เกิด 1 ต.ค.2497 - 30 ก.ย.2498 อายุครบ 60 ปี วันที่ 1 ต.ค.2557 - 30 ก.ย.2558 จะมีความได้เปรียบเสียเปรียบเล็กน้อยสำหรับคนที่เกิดกันยายนกับตุลาคม คนเกิดตุลาคมต้องรออีก 1 ปี หรืออายุ 61 ปีจึงจะได้เบี้ยยังชีพ แต่คนที่เกิดกันยายนเมื่อครบ 60 ปีได้ทันทีได้เดือนถัดไป เพราะการเบิกจ่ายขึ้นอยู่กับปีงบประมาณที่เริ่มในเดือนตุลาคม แต่ประเด็นคือเป็นไปไม่ได้ที่มีผู้สูงอายุลงทะเบียนเพิ่มมาระหว่างปี
ไทยพีบีเอสจะติดตามเรื่องนี้ต่อไปจนกว่าจะได้รับคำตอบว่า เงินตกหล่นอยู่ที่ไหนและทำไมยังมีผู้สูงอายุไม่ได้รับอีกกว่า 200 คน ทั้งที่ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้า และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดสรรให้ครบตามจำนวนแล้ว