สังเกตวิธีป้องกันถูก
เหตุการณ์ที่มีผู้เสียหาย 18 คนย่านบางใหญ่ ถูกถอนเงินจากบัญชีไปโดยไม่รู้ตัว อาจชี้ให้เห็นว่าขบวนการสกิมเมอร์ หรือการติดตั้งเครื่องดูดข้อมูลแถบแม่เหล็กยังมีอยู่ ภาพจำลองเหตุการณ์ต่อไปนี้จะแนะนำวิธีการป้องกันไม่ให้ตกเป็นผู้เสียหายจากการใช้บัตรเอทีเอ็ม
วันนี้ (23 ก.ย.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจะกดตู้เอทีเอ็มแต่ละครั้งอาจจะต้องฉุกคิดไว้สักนิดว่าตู้ที่กำลังจะกดมีสิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่าเครื่องสกิมเมอร์ หรือเครื่องดูดข้อมูลและรหัสจากบัตรหรือไม่ แม้จะเคยย้ำเตือนกันมาแล้ว แต่ยังมีผู้เสียหายต่อเนื่อง มาทบทวนวิธีป้องกันที่พอจะทำเองได้อีกสักครั้ง
วิธีการสังเกตอย่างแรกเลย คือช่องเสียบบัตร ถ้าเสียบไปแล้วรู้สึกช่องเสียบบัตรโยกได้ หรือสีสันแปลกๆ ตัดกับสีตู้ หรือสีไม่เท่ากัน ให้สันนิษฐานก่อนว่าอาจมีใครนำช่องเสียบบัตรปลอมมาสวมทับไว้ เพื่อติดเครื่องสกิมเมอร์ไว้ดูดข้อมูลจากแถบแม่เหล็กของบัตรเอทีเอ็ม และอีกอย่างที่สังเกต คือไฟกระพริบที่ช่องเสียบบัตรยังมีอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีไฟกระพริบ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนเช่นกันว่าอาจมีเครื่องสกิมเมอร์
จุดสังเกตถัดมา คือด้านบนของตู้หรือขอบๆ อาจจะมีอุปกรณ์ลักษณะคล้ายกล้องจิ๋วติดอยู่หรือไม่ นอกเหนือจากกล้องของตู้เอทีเอ็มเอง กล้องจิ๋วนี้ทำหน้าที่บันทักภาพตอนที่กดรหัส เพราะฉะนั้นนอกจากสังเกตแล้ว การใช้มือบังน่าจะช่วยได้ เพราะถ้าได้ข้อมูลจากบัตรไปแต่ไม่ได้รหัส การนำไปใช้อาจจะยากขึ้น
สุดท้ายที่ต้องสังเกต คือแป้นพิมพ์ ปุ่มกด มีลักษณะบุ๋มลึกลงไปผิดปกติหรือไม่ หรือขอบแป้นพิมพ์นูนขึ้นมามากกว่าปกติหรือไม่ อาจจะมีแป้นพิมพ์ปลอม ทำเหมือนของจริงทุกอย่างนำมาวางทับแป้นพิมพ์จริง เพื่อบันทึกรหัสก็เป็นไปได้
ถ้าพบเห็นความผิดปกติให้แจ้งธนาคารเจ้าของตู้ทันที หลายกรณีที่เกิดขึ้นเป็นตู้เอทีเอ็มที่มีผู้คนเดินผ่านพลุกพล่าน มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกตู้ทุกธนาคาร แม้แต่ละธนาคารจะมีระบบป้องกัน และดูเหมือนขบวนการนี้จะพยามพัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่องให้ดูดเงินไปจากบัญชีได้สำเร็จ