ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทุ่ม 700 ล.เสริมทราย 35 ม.สร้างหัวหาด-เขื่อน แก้กัดเซาะชายฝั่งหาดจอมเทียน เมืองพัทยา

สิ่งแวดล้อม
24 ก.ย. 58
04:37
722
Logo Thai PBS
ทุ่ม 700 ล.เสริมทราย 35 ม.สร้างหัวหาด-เขื่อน แก้กัดเซาะชายฝั่งหาดจอมเทียน เมืองพัทยา

เป็นอีกพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง สำหรับชายหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี จนทำให้พื้นที่ชายหาดเหลือน้อยลงและจมอยู่ใต้น้ำทะเลมากขึ้น ขณะที่การแก้ไขอยู่ในช่วงการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานและประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมฯ เลือกวิธีการเติมทรายและก่อสร้างหัวหาดด้วยงบ 700 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ด้านนักวิชาการระบุปล่อยไว้ 25 ปี ชายหาดไม่เหลือ ติดตามจากรายงาน

วันนี้ ( 24 ก.ย. 2558) กรมเจ้าท่า เมืองพัทยา ร่วมกับสถานอบรมคริสเตียนแบ๊บติส พัทยา จ.ชลบุรี จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น การประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาวางแผนแม่บท และสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี ครั้งที่ 2 วานนี้ (23 ก.ย. 2558) โดยมีตัวแทนจาก อ.บางละมุง และเทศบาลเมืองพัทยา พร้อมด้วยประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง

นายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรม ผู้แทนกรมเจ้าท่า เผยว่า ทีมศึกษาออกแบบแนวทางป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดจอมเทียนไว้ 6 ทาง ซึ่งที่ประชุมเลือกวิธีการเสริมทรายออกไป 35 เมตร พร้อมกับการก่อสร้างหัวหาดร่วมกับเขื่อนกันคลื่นและสวนสาธารณะ ซึ่งใช้งบประมาณรวม 700 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 2 ปี

ขณะที่ ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน กล่าวว่า พื้นที่ชายหาดจอมเทียน 14 กม.ได้รับผลกระทบจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.ของทุกปี นอกจากนี้ ด้านกายภาพปริมาณมวลทรายบริสุทธิ์ของหาดจอมเทียนยังเคลื่อนที่ขึ้นเหนือปีละ 80,000 ลบ.ม. และเมื่อไม่มีตะกอนทรายชายฝั่งทิศใต้ไหลเข้ามาเพียงพอ จึงทำให้เกิดการขาดสมดุลทรายบนชายฝั่ง ซึ่งหากปล่อยไว้เพียง 25 ปี จะทำให้ชายหาดหายไปส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการศึกษาข้อมูลความเปลี่ยนแปลงชายฝั่งบริเวณพื้นที่เมืองพัทยา ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่า การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนนเลียบชายฝั่งสาธารณะ พร้อมกำแพงคอนกรีตป้องกันตลิ่ง โครงสร้างป้องกันการกัดเซาะเป็นกำแพงโครงสร้างเหล็ก (คสล.) ทำให้เกิดคลื่นเข้าปะทะกับกำแพงจนเกิดการสะท้อนกลับอย่างรุนแรง ประกอบกับขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างถูกต้อง ทำให้ อัตราการกัดเซาะของหาดในเมืองพัทยามีระดับรุนแรงปานกลาง จากการกัดเซาะมากกว่า 2 ม.ต่อปี
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง