คอบช.สุ่มตรวจตู้น้ำหยอดเหรียญใน กทม. พบเกินครึ่งไม่ได้คุณภาพ-หัวจ่ายสกปรก-ขึ้นสนิม คุณภาพน้ำไม่เหมาะบริโภค
วันนี้ (2 พ.ย. 2558) คณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ลงพื้นที่สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่ กทม. จำนวน 855 ตู้ พบว่ามีหลายปัจจัยทำให้คุณภาพน้ำไม่เหมาะต่อการบริโภค โดยตู้น้ำหยอดเหรียญร้อยละ 76.3 อยู่บนสถานที่ตั้งไม่เหมาะสม เช่น อยู่ในแหล่งสัญจรที่ฝุ่นและควันรถยนต์ตลอดเวลา อีกร้อยละ 28.3 อยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำเสียหรือที่ทิ้งขยะ
ข้อมูลจาก คอบช.ระบุเพิ่มว่า ส่วนลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำ ตัวตู้ไม่สะอาดถึงร้อยละ 55.2 หัวจ่ายน้ำไม่สะอาดร้อยละ 42.9 เป็นสนิมร้อยละ 29.4 ผุกร่อนร้อยละ 21.1 และมีรอยรั่วซึมร้อยละ 11.2 สำหรับแหล่งที่มาของน้ำร้อยละ 93.8 ใช้น้ำประปาผลิต ส่วนการบำรุงรักษาทำความสะอาดตู้ทุกเดือนมีเพียงร้อยละ 43.3นอกจากนี้ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่แสดงผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำมีเพียงร้อยละ 6 ส่วนที่แสดงรายการเปลี่ยนไส้กรองมีแค่ร้อยละ 7
นักวิจัยอิสระจาก คอบช.กล่าวว่า ผลการศึกษาสะท้อนว่าผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยตรงต่อผู้บริโภค ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรตรวจสอบสภาพของตู้น้ำหยอดเหรียญก่อนใช้งานทุกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการศึกษาดังกล่าว คอบช.ได้เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กทม. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อหาแนวทางควบคุมมาตรฐานตู้น้ำหยอดเหรียญ