การขอออกใบอนุญาตจัดลานเบียร์อยู่ภายใต้พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 มาตรา 19 จัดอยู่ในประเภทที่ 6 ซึ่งอนุญาตให้จัดลานเบียร์ได้ไม่เกิน 10 วัน และจำหน่ายเพื่อดื่มไม่เกิน 10 ลิตรต่อคน และห้ามจัดใกล้สถานศึกษา ศาสนสถาน และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือสถานที่ที่มีการประกาศห้ามขาย
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า แม้ผู้ประกอบการจะไม่กระทำผิดกฎหมายสุราและได้รับใบอนุญาตจัดลานเบียร์อย่างถูกต้อง แต่จะดูเพราะกฎหมายสุราอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคำนึงถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพราะในใบอนุญาตได้ระบุไว้ หากพบมีความผิดผู้ที่ดูแลกฎหมายสามารถแจ้งกรมสรรพสามิตให้เพิกถอนใบอนุญาตลานเบียร์ได้
"ถ้าเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าพฤติกรรมในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าข่ายผิดกฎหมายให้แจ้งกรมสรรพสามิตเพื่อให้เพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งหมายถึงจะไม่ได้รับอนุญาตให้จัดลานเบียร์เป็นเวลา 5 ปี" นายสมชายกล่าว
ขณะที่ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบการจัดลานเบียร์ที่มีการส่งเสริมการขายชัดเจนซึ่งเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 มาตรา 32 แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถแจ้งกรมสรรพสามิตให้ดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตได้ทันเป็นเพราะต้องรอกระบวนการทางกฎหมายให้สิ้นสุดที่ชั้นศาลก่อน จึงจะนำคำพิพากษาของศาลส่งให้กับกรมสรรพสามิตได้ ส่วนตัวไม่มีอำนาจในการพิจารณานำส่งเอง
"ในขั้นตอนตามกฎหมายต้องใช้เวลา ปัจจุบันทางสำนักงานมีการตรวจจับลานเบียร์กว่า 40 แห่ง แต่คดีส่วนใหญ่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ซึ่งกระบวนการในระบบยุติธรรมไทยต้องใช้เวลา ทำให้บางครั้ง กว่าศาลจะตัดสิน ลานเบียร์ก็จัดเสร็จแล้ว" นพ.สมานกล่าว
นพ.สมานระบุว่า ตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการจัดลานเบียร์อยู่ในขั้นตอนทางกฎหมายกว่า 40 คดี แต่จนถึงขณะนี้พบว่ามีคดีที่สิ้นสุดแล้วไม่ถึง 10 คดี ขณะที่กรมสรรพสามิตระบุว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีกรณีเบิกถอนใบอนุญาตการจัดกิจกรรมลานเบียร์เลยแม้แต่ครั้งเดียว