จับตาเลือกตั้งเมียนมา
วันนี้ (6 พ.ย.2558) การเลือกตั้งเมียนมาที่จัดการเลือกตั้งขึ้น 8 พ.ย.นี้ แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเมื่อปี 2553 คือ พรรคฝ่ายค้านได้นางออง ซาน ซูจี มาลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย แม้ตามรัฐธรรมนูญ จะไม่มีโอกาสได้เป็นประธานาธิบดีก็ตาม แต่มีการคาดการณ์ว่า การลงชิงชัยของนาง ซูจี อาจทำให้สมดุลย์อำนาจในเมียนมาเริ่มขยับจากกองทัพและพรรครัฐบาลปัจจุบัน สู่มือของพรรคฝ่ายค้าน NLD ได้ การเลือกตั้งครั้งนี้เมียนมามีผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งคือประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ประมาณ 33,000,000 คน จากประชากรประมาณ 51,000,000 คน โดยจะใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย.2558 ตั้งแต่เวลา 6.00-16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาเชื้อชาติและสมาชิกสภาท้องถิ่นเท่ากับผู้มีสิทธิจะได้บัตรเลือกตั้งถึง 3 ใบ
สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเมียนมามีทั้งหมด 440 ที่นั่ง ชิงชัยในการเลือกตั้งรวม 330 ที่นั่ง ที่เหลือ 110 ที่นั่ง กันไว้สำหรับโควตานายทหารร้อยละ 25 ตามรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากในพื้นที่รัฐฉานกับคะฉิ่น มีบางหน่วยเลือกตั้งที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ เพราะสถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่น่าไว้วางใจ ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงปรับลดเก้าอี้ ส.ส.เหลือ 325 ที่นั่งที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนอีก 5 ที่นั่ง นำไปเพิ่มให้สัดส่วนทหาร
นอกจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วยังมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเชื้อชาติ ซึ่งเปรียบได้กับสภาสูงของบ้านเรา มีทั้งหมด 224 ที่นั่ง ซึ่งประชาชนจะลงคะแนนเลือกตั้ง 168 ที่นั่ง ที่เหลือ 56 ที่นั่งเป็นโควตากองทัพ
ขณะที่บัตรลงคะแนนใบที่ 3 ที่ชาวเมียนมาจะใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ คือการเลือกตั้งสภาท้องถิ่น รวม 673 ที่นั่ง ในจำนวนนี้ เป็นที่นั่งสภาท้องถิ่น 644 ที่นั่ง แต่อีก 29 ที่นั่งที่เหลือ จะมีเฉพาะบางเขตเลือกตั้งเท่านั้นและจะเป็นบัตรลงคะแนนใบที่ 4 กันไว้สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตเลือกตั้งดังกล่าวเพื่อให้มีตัวแทนชาติพันธุ์ของตัวเองเข้าไปทำหน้าที่ในสภาท้องถิ่น การเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรวม 93 พรรคการเมือง เพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัวจากการเลือกตั้งปี 2553 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครั้งนี้ พรรค NLD ภายใต้การนำของนางออง ซาน ซู จี ไม่ได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งนั่นเอง
สำหรับ 2 พรรคใหญ่ที่ส่งผู้สมัครมากที่สุดครบทุกหน่วยเลือกตั้ง ก็คือพรรค USDP พรรครัฐบาลและพรรค NLD พรรคฝ่ายค้าน ที่ส่งผู้สมัครพรรคละ 1,130 คน และแน่นอนว่านักการเมืองคนสำคัญที่คาดว่าจะมีบทบาทหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ หนีไม่พ้นพลเอกเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมา คนปัจจุบัน วัย 70 ปี อดีตเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงรัฐบาลทหารและเมื่อมีการเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดี และได้รับการยกย่องในฐานะผู้นำนักปฏิรูป ที่ประคับประคองประเทศในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารสู่รัฐบาลประชาธิปไตยขณะที่ก่อนหน้านี้พลเอกเต็ง เส่ง เคยออกมาพูดว่าจะไม่เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย แต่ด้วยความที่ภาพผู้นำคนใหม่ของ USDP ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก จึงมีการคาดการณ์ว่าหาก USDP ชนะการเลือกตั้ง พลเอกเต็ง เส่ง จะยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออีก แล้วจากนั้นก็จะเปลี่ยนตัวประธานาธิบดี
ขณะที่ผู้ที่ได้รับการจับตาว่าน่าจะเป็นคนที่มีโอกาสสูงที่สุด ที่จะเป็นประธานาธิบดีแทนพลเอกเต็ง เส่ง ก็คือพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนปัจจุบัน ที่กำลังจะเกษียณอายุ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย วัย 62 ปี เกิดที่ทวาย เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาสงบข้อพิพาทกับกองกำลังว้าและกองกำลังฉานตะวันออก โดยได้รับการวางตัวจากพลเอกอาวุโสตัน ฉ่วย ให้เป็นผู้คานอำนาจประธานาธิบดีเพราะโดยตำแหน่งแล้ว ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงความมั่งคง ขณะที่กองทัพจะมีสิทธิเสนอชื่อประธานาธิบดี และในสภาแห่งชาติ ก็มีทหารร้อยละ 25 เท่ากับว่าเป็นผู้มีสิทธิเลือกประธานาธิบดีผ่านทหารในสภาด้วย
ส่วนอีกคนที่ได้รับการจับตามาตลอดเมื่อกล่าวถึงการเมืองเมียนมาและได้รับการจับตามากในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ นางออง ซาน ซูจี วัย 70 ปี ผู้นำพรรค NLD ลงชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งสำคัญรอบนี้ หลังจากชนะการเลือกตั้งซ่อมและเข้าทำหน้าที่เป็น ส.ส.และนักการเมืองในสภาเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ถูกรัฐบาลทหารคุมขัง 16 ปี จากช่วง 21 ปี นับตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา นางออง ซาน ซูจี ได้รับการเรียกขานในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ สิ่งที่จับตากันมาก คือ ซูจีและพรรค NLD จะเลือกตัวใครเป็นประธานาธิบดี หากพรรคชนะการเลือกตั้ง เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 2551 แล้ว ผู้ที่สมรสหรือมีบุตรเป็นชาวต่างชาติ ในกรณีของนางซูจี คือ สามีผู้ล่วงลับและบุตรชายทั้ง 2 คน จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ ดังนั้นก็มีการคาดการณ์ว่า ถ้าเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้ง นางซูจี อาจขึ้นเป็นประธานรัฐสภาแห่งชาติ ต่อจากพลเอกฉ่วย มาน แต่ล่าสุดเมื่อวานเธอก็ประกาศว่า หาก NLD ชนะการเลือกตั้ง เธอก็จะเป็นผู้นำสูงสุดที่บริหารประเทศแม้จะไม่ได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีก็ตาม
ทั้งนี้เมียนมาแบ่งเขตการปกครองเป็น 7 ภูมิภาค 7 รัฐโดยแบ่งตามถิ่นอาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ 7 ภูมิภาค ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของคนเชื้อสายพม่า ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ คือพื้นที่ตอนกลางของประเทศ ดังนี้ 1.ตะนาวศรี 2. หงสาวดี 3. มัณฑะเลย์ 4. มาเกว 5.ย่างกุ้ง 6.สะกาย 7. อิรวดี พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นฐานเสียงของพรรค USDP และ NLD แต่ในหัวเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้งค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ของ NLD
ส่วน 7 รัฐ คือถิ่นอาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ไม่ได้มีแค่ 7 ชาติพันธุ์ แต่ยังมีชนกลุ่มน้อยแยกย่อยรวมกว่า 20 ชาติพันธุ์ กระจายตามรัฐต่างๆ ดังนี้ 1.กะฉิ่น 2.กะยา 3.กะเหรี่ยง 4. ฉาน (หรือไทใหญ่) 5. ชิน 6.มอญ 7. ยะไข่ ในรัฐเหล่านี้ส่วนใหญ่จะให้การสนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนชาติพันธุ์ของตัวเอง ดังนั้นคาดว่าคะแนนเสียงจะค่อนข้างกระจาย และต้องวัดอีกครั้งว่าในบรรดาพรรคที่ได้คะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะให้การสนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่พรรคใดระหว่าง USDP และ NLD ในช่วงที่ต้องจับขั้วการเมืองหลังการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ น่าจับตามองพรรค NLD ประกาศว่าอยากชนะการเลือกตั้งแบบ 100 % คืออยากได้เก้าอี้ทั้งหมดของสภาสูงและสภาล่างที่แข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสที่พรรคจะได้บริหารประเทศ ก็ต้องจับตาว่า สุดท้ายแล้ว พรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ จะสนับสนุน NLD หรือไม่ เพราะพวกเขาก็อยากได้ที่นั่งในสภาเช่นกัน