ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ซู จี" เรียกร้องสตรีเมียนมาสนใจการเมือง หลังพบผู้หญิงลงสมัครเลือกตั้งแค่ร้อยละ 15

ต่างประเทศ
6 พ.ย. 58
16:21
236
Logo Thai PBS
"ซู จี" เรียกร้องสตรีเมียนมาสนใจการเมือง หลังพบผู้หญิงลงสมัครเลือกตั้งแค่ร้อยละ 15

นาทีนี้ผู้หญิงในเมียนมาไม่มีใครโดดเด่นไปกว่า นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD ในเวทีสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งประวัติศาสตร์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา แม้เธอเป็น 1 ในผู้หญิงที่ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดแค่ร้อยละ 15 จากผู้สมัคร 6,000 คน แต่ผู้หญิงเมียนมาก็คาดหวังความเปลี่ยนแปลงจากเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่นักกิจกรรมจากแอมเนสตี้ฯ เรียกร้องให้ทางการเมียนมาปล่อยตัวนักโทษทางความคิดอย่างไม่มีเงื่อนไข ด้าน กกต. เมียนมาเร่งสาธิตวิธีการลงคะแนนตามบ้านก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีก 2 วันข้างหน้า ติดตามรายงานการหาเสียงโค้งสุดท้ายในย่างกุ้ง

วันนี้ ( 6 พ.ย. 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ปล่อยทีเด็ดสำคัญด้วยการประกาศว่า ถ้าชนะเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาลจะมีอำนาจเหนือประธานาธิบดี ผู้สมัครเลือกตั้งผู้หญิงในเมียนมาหลายคนสะท้อนความคิดเห็นว่า ถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้หญิงในเมียนมาว่าสามารถเข้าไปทำงานด้านการเมืองได้

เม ทู ทู อัง วิศวกรหญิงในฐานะผู้สมัครพรรค NDF กล่าวว่า จากการทำงานและลงพื้นที่สาธารณะมาตลอด เห็นว่าปัจจุบันต้องการเร่งสร้างความมั่นใจให้ผู้หญิงเมียนมาให้มีบทบาทในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการเมืองมากขึ้น เพราะจากผู้สมัคร 6,000 คน มีผู้หญิงเข้าชิงเก้าอี้ในรัฐสภาเพียง 800 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของผู้สมัครทั้งหมด ซึ่งนางออง ซาน ซูจี ยังออกปากว่าผู้หญิงเมียนมาสนใจการเมืองน้อยไปสักหน่อย และต้องเร่งให้การศึกษาในเรื่องนี้

ส่วน เทต เทต ไค ผู้สมัครหญิงพรรค NLD เผยว่า ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมยังคงมีอยู่ในเมียนมา ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่ต้องเร่งตัวเองเข้าทำงานทางการเมือง ก็ยังเป็นเรื่องยากเพราะถึงแม้ นางออง ซาน ซูจี จะมีบทบาทและยังเป็นสัญลักษณ์เชิงการเมืองที่เป็นต้นแบบของผู้หญิงเมียนมา แต่การศึกษาที่ดีและเป็นบุตรของ นายพลออง ซาน ทำให้หญิงเมียนมาจำนวนมากรู้สึกว่าเป็นเรื่องห่างไกลกับจุดยืนที่พวกเธอเป็นอยู่ในฐานะประชนชนทั่วไป ทว่า ก็น่ายินดีที่อย่างน้อยการเลือกตั้งครั้งนี้ เริ่มเห็นผู้หญิงเมียนมาเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ด้าน นายดามาสโก มัคบัล ประธานเครือข่ายเพื่อการเลือกตั้งเสรีแห่งเอเชีย กล่าวว่า หลังจากปักหลักทำงานในเมียนมามา 2 เดือน ทางเครือข่ายเป็นห่วงในเรื่องการจัดรายชื่อประชาชนที่จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวพบได้ในหลายประเทศ

“โดยรวมยอมรับได้ถึงมาตรฐานการการจัดการเลือกตั้งของเมียนมาครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเมียนมาไม่ได้จัดการเลือกตั้งบ่อย แต่ที่เห็นคือผู้สมัครยังเดินทางและทำกิจกรรมเลือกตั้งได้อย่างเสรี บ่งว่าเมียนมามีความพยายามจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ขอให้จับตาเรื่องการซื้อเสียงและการข่มขู่ผู้ไปใช้สิทธิ์ ซึ่งจะเป็นข้อพิสูจน์ว่าหากการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย. 2258 มีเหตุผิดปกติ ก็จะส่งผลให้รัฐบาลที่ได้หลังจากการเลือกตั้งมีความชอบธรรมน้อยลง” นายมัคบัลระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า เจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาได้ลงพื้นที่สอนวิธีการลงคะแนนและเก็บรวบรวมบัตรเลือกตั้ง แก่ประชาชนที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าในนครย่างกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในวันเลือกตั้งจริง และไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้

ขณะที่ นักกิจกรรมจากแอมเนสตีอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เดินทางมอบหนังสือต่อสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้ทางการเมียนมาปล่อยตัวนักโทษทางความคิดและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไข โดย นายทูน เด เลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา เป็นตัวแทนรับหนังสือ
ทั้งนี้ นักกิจกรรมจากแอนเนสตีฯ เชื่อว่า มีนักสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน นักกิจกรรมทางเมือง นักศึกษาชาวเมียนมาถูกคุมขังกว่า 94 คน จากใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ศาสนา หรือชาติพันธุ์ โดยไม่ใช้ความรุนแรง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง