ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กว่าจะถึงวันประมูล 4G: วิวัฒนาการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ

เศรษฐกิจ
11 พ.ย. 58
06:09
1,763
Logo Thai PBS
กว่าจะถึงวันประมูล 4G: วิวัฒนาการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ

วันนี้ (11 พ.ย.2558) สำนักงาน กสทช.จัดประมูล 4G คลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งนับเป็นก้าวที่สำคัญของการเข้าสู่ยุค 4G ของไทย แต่ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ เราผ่านยุคสัญญาณโทรศัพท์มือถือมาแล้ว 4 ยุค ตั้งแต่ "มือถือรุ่นกระติกน้ำ" เมื่อปี 2529 ที่ใช้สัญญาณแอนะล็อกจนมาถึงยุคที่ใช้สัญญาณดิจิทัล

หลายคนอาจสงสัยว่า 4G มีคุณสมบัติอย่างไร ต่างจาก 3G ที่ใช้ในปัจจุบันมากแค่ไหน ซึ่งจริงๆ แล้วทั้ง 3G และ 4G ต่างเป็นคำเรียกวิวัฒนาการของสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่ใช่ชื่อเรียกทางเทคนิคจริงๆ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 5 ยุค ดังนี้

ยุคแรก : 1G
ย้อนกลับไปในยุคแรกของคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ นั่นคือ 1G หรือที่เรียกกันว่า "มือถือรุ่นกระติกน้ำ" เป็นยุคที่สามารถโทรออก-รับสายได้อย่างเดียว ไม่สามารถส่งข้อมูลใดๆ ได้ทั้งสิ้น  ในยุคนั้นผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลที่มีรายได้สูง 1G เป็นการใช้งานคลื่นความถี่ 1 หมายเลขต่อ 1 คลื่น ซึ่งถือเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรคลื่นความถี่อย่างมากเพราะเมื่อการใช้งานหนาแน่นก็จะใช้งานไม่ได้เนื่องจากคลื่นสัญญาณเต็ม

<"">

ยุคที่สอง : 2G
ยุค 2G หรือ จีพีอาร์เอส เป็นยุคมือถือที่คนอายุ 30 ปีขึ้นไปต้องคุ้นเคย ยุคนี้มีการแบ่งคลื่นความถี่หลายช่อง นับเป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมยุคใหม่ โดยสามารถส่งข้อความสั้น หรือ SMS และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือจีพีอาร์เอสได้นั่นเอง แต่ก็พบปัญหาในการใช้งาน เช่น ความช้าในการรับส่งข้อมูล

<"">

ยุคที่สาม : 2.75G
ยุค 2.75G หรือ EDGE เป็นระบบอินเทอร์เน็ตไร้สาย มีความเร็วสูงกว่า GPRS 4 เท่า แต่ในบางพื้นที่ หากใช้เอดจ์ไม่ได้ โทรศัพท์ก็จะเปลี่ยนไปใช้จีพีอาร์เอส / ซึ่งนี่คือก้าวสำคัญของการเข้าสู่ยุค 3จี

<"">

ยุคที่สี่ : 3G
3G เป็นสัญญาณที่ถูกพัฒนาเพื่อแทนที่ 2G ใช้ช่วงคลื่นความถี่ ตั้งแต่ 850 900 1800 1900 และ 2100 เมกะเฮิรตซ์ สามารถนำเสนอข้อมูลมัลติมีเดียทั้งภาพและเสียง ในระบบไร้สายด้วยความเร็วสูง เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลให้โทรศัพท์มือถือที่โทรเข้าออกและส่ง SMS MMS มาเป็น สมาร์ทโฟนในปัจจุบัน หลังสมาร์ทโฟนมีบทบาทมากขึ้น การใช้งานอินเทอร์เน็ตก็มีมากขึ้นตามคอนเทนท์ที่มีความหลากหลาย นี่จึงเป็นที่มาของวิวัฒนาการโทรศัพท์มือถือในยุค 4G

<"">

ยุคที่ห้า : 4G
มีความเร็วมากกว่ายุค 3G ถึง 10 เท่า / มีตอบสนองการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตไร้สายดีขึ้น สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้รวดเร็วกว่าเดิมและใช้โปรแกรมมัลติมีเดียได้อย่างเต็มที่ เช่น การสนทนาผ่านโปรแกรมต่างๆ ในระดับความคมชัดสูง โหลดหนัง ฟังเพลง ได้โดยไม่สะดุดและยังสามารถอัพโหลด-ดาวน์โหลดข้อมูลที่มีขนาดไฟล์ใหญ่โดยใช้เวลาเพียงไม่นาน

<"">

ปัจจุบันไทยมีการเปิดใช้งาน 4G กันแล้วในบางเครือข่ายกับความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีการเปิดประมูลไปเมื่อเร็วๆ นี้

วันนี้ (11 พ.ย.2558) เป็นวันสำคัญที่ทุกฝ่ายต่างจับตามองเนื่องจากจะมีการประมูล 4G บนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์และในวันที่ 15 ธ.ค.2558 จะประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งนี้ความถี่แต่ละช่วงจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์รายงานว่า คลื่นความถี่ต่ำ เช่น 700, 850 และ 900 MHz จะสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างแต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานในบริเวณที่มีความต้องการข้อมูลในปริมาณสูงหรือหนาแน่น ในทางกลับกัน คลื่นความถี่สูงเช่น 1800, 2100 และ 2600 MHz จะครอบคลุมพื้นที่ได้แคบกว่าคลื่นความถี่ต่ำ แต่จะสามารถรับส่งข้อมูลได้ปริมาณมากและรวดเร็วมากกว่า โดยปกติแล้วผู้ให้บริการมือถือจึงต้องการถือครองอย่างน้อยสองช่วงความถี่ คือ ช่วงคลื่นความถี่ต่ำเพี่อให้บริการในต่างจังหวัดที่มีความต้องการใช้ข้อมูลไม่ค่อยหนาแน่นแต่ต้องครอบคลุมพื้นที่กว้าง และช่วงคลื่นความถี่สูงเพื่อให้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้บริการข้อมูลที่สูงและมีการใช้งานหนาแน่น เช่น กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ดี ยังมีการใช้คลื่นทั้งสองช่วงความถี่ผสมผสานกันในแต่ละพื้นที่เพราะในเชิงเทคนิคคลื่นความถี่ต่ำอย่าง 900 MHz จะเพิ่มความสามารถในการให้บริการในอาคารสูงได้ดีกว่าคลื่นความถี่สูงอย่าง 1800 MHz

ทั้งนี้คาดว่าการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะมีระดับการแข่งขันที่สูงกว่า 900 MHz และอาจทำให้ราคาประมูลสุดท้ายสูงกว่าราคาตั้งต้นพอสมควร โดยทั่วไปแล้วคลื่นที่มีความถี่ต่ำกว่า 1000 MHz จะมีมูลค่าคลื่นสูงกว่าคลื่นที่มีความถี่สูงกว่า 1000 MHz ทำให้การกำหนดราคาประมูลคลื่น 800-900 MHz มักสูงกว่าราคาประมูล 1800-2100 MHz ในหลายประเทศรวมถึงไทย สาเหตุหลักคือคลื่นความถี่ต่ำสามารถครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้มากกว่า 2 เท่าและสามารถลดการลงทุนด้านโครงข่ายลงได้กว่า 10 เท่า จึงเกิดการแข่งขันแย่งชิงคลื่นความถี่ต่ำกันค่อนข้างสูง

หากไม่มีอุปสรรคอะไรวันนี้เราคงเห็นหน้าตากันว่าใครที่จะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผู้ให้บริการ 4G คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ แต่ปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตาม คือ กรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท โทรคมนาคม ที่ได้รับสิทธิ์ครอบครองคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ได้ยื่นหนังสือถึงศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการจัดประมูล 4G และขอไต่สวนฉุกเฉินซึ่งศาลปกครองรับคำร้องไว้เมื่อวานนี้ (10 พ.ย.) แต่ไม่รับไต่สวนฉุกเฉิน รวมถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ทีโอที ที่ได้รับสิทธิ์ครอบครองคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ได้ยื่นศาลปกครองขอชี้สิทธิ์ขาดในการถือครองคลื่นความถี่ดังกล่าว และเตรียมยื่นขอระงับการประมูลเพิ่มเติม

สำหรับประชาชนบางส่วนและภาคเอกชนเห็นตรงกันว่า 4G จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ช่วยสนับสนุนให้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยส่วนสิ่งที่ภาครัฐได้จากการประมูล 4G คือ เงินรายได้ที่จะนำไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ทำให้เกิดการพัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานเทียบเท่าระดับสากล เกิดการจ้างงาน ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงกระตุ้นให้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องด้วย

ในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่าง บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มี 4G ใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในฟิลิปปินส์ตลาด 4G มีการแข่งขันดุเดือด ส่วนสิงคโปร์ถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีการให้บริการ 4G ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่วนกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย ยังไม่มี 4G ใช้อย่างเต็มรูปแบบ ในประเทศไทยต้องยอมรับว่า 3G ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่การใช้งานได้หมด บางพื้นที่ไม่มีแม้กระทั่งสัญญาณโทรศัพท์และ EDGE

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง