ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เกมเกทับ 4 ค่ายมือถือ มาราธอนประมูล 4G

เศรษฐกิจ
13 พ.ย. 58
10:05
169
Logo Thai PBS
เกมเกทับ 4 ค่ายมือถือ มาราธอนประมูล 4G

สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการโทรคมนาคมในบ้านกับการประมูล 4G คลื่น 1800 MHz แบบข้ามวันข้ามคืนยาวนานถึง 33 ชม. ได้ผู้ชนะการประมูล 2 ราย ที่ส่งผลให้ กสทช.มีรายได้จากการเคาะราคารวม 2 ใบอนุญาต สูงถึง 80,000 ล้านบาท นักวิชาการหลายท่านที่ติดตามการประมูลในครั้งนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเหนือความคาดหมาย

ผศ.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิจัย NBTC Policy Watch กล่าวในรายการตอบโจทย์ ออกอากาศทางไทยพีบีเอส วันที่ 12 พ.ย.2558 ว่าราคาประมูลคลื่น 3G ที่ได้เหนือความคาดหมาย แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการทราบดีว่าราคาหรือมูลค่าที่แท้จริงของคลื่นเป็นอย่างไร ขณะที่การประเมินราคาตั้งต้นของ กสทช.ที่จ้างหน่วยงานที่ปรึกษาศึกษาและตั้งราคาประมูลเริ่มต้นอยู่ที่ร้อยละ 80 ของราคาประเมินนั้นขึ้นกับว่าพิจารณาเงื่อนไขใด ทั้งนี้เห็นว่าการประมูลจะทำให้มีการเสาะหาราคาของคลื่นที่เหมาะสมกับสังคมว่าจะเริ่มต้นจุดไหน

"ผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดมาเป็นสิบๆปี ค่อนข้างแม่นยำว่าคลื่นความถี่สามารถสร้างกำไรได้บริษัทได้เท่าไหร่บ้าง กระบวนการที่เห็น ราคาที่ไล่ๆ ขึ้นไป เป็นการเปิดเผยให้เห็นว่ามูลค่าคลื่นจริงๆที่สร้างผลประโยชน์ให้แก่ธุรกิจคมนาคมเป็นเท่าไหร่"  ผศ.พรเทพ กล่าว 

ส่วนการทุ่มทุนที่รวมมูลค่าการประมูลกว่า 80,000 ล้านบาท ผศ.พรเทพ มองว่าเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความจำเป็นในการใช้คลื่นผู้ประกอบการแต่ละรายมีคลื่นอยู่ไม่มาก เอไอเอสเหลือคลื่น 3G อยู่ 1 คลื่น  ดีแทค เหลือ 3G และอื่นๆ ที่จะหมดอายุใน 3 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันใบอนุญาตที่น้อยกว่าเอกชนที่แข่งขันก็เป็นสาเหตุเช่นกัน รวมทั้งความไม่แน่นอนในอนาคตว่าจะได้ประมูลคลื่นอีกหรือไม่ ผู้ประกอบการจึงคิดว่าหากวันนี้มีโอกาสได้ก็คว้าไว้ก่อน ซึ่งจะส่งผลต่อความได้เปรียบคู่แข่งในอนาคต

ด้าน ผศ.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าก่อนที่จะประมูลมีความกังวลว่าอาจเกิดการฮั้วประมูลระหว่างผู้ประกอบการ แต่ปรากฏว่าไม่เกิดขึ้น ประเด็นสำคัญคือความไม่แน่นอนสูงที่อยู่ตรงหน้าได้เป็นตัวกดดันที่ทำให้ต้องแข่งขันกัน

ส่วนในประเด็นที่ว่าราคาประมูลที่ได้ใบอนุญาตมาแพงจะกระทบต่ออัตราค่าบริการของผู้บริโภคหรือไม่ ผศ.ปิยบุตร กล่าวว่าในเชิงการกำกับดูแล ค่าบริการกับค่าใบอนุญาตเป็นคนละเรื่องกันจึงไม่ได้มีผลต่อกัน ซึ่งราคาค่าบริการเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่จะทำให้ราคาค่าบริการอยู่ในวิสัยที่ประชาชนใช้ได้

การกำหนดแพ็กเกจราคาที่ระบุว่าต้องต่ำกว่า 3G ถือเป็นเงื่อนไขที่ค่อนข้างง่าย ที่ผ่านมาพยายามที่จะกดดันหลายอย่าง เช่น 15% ผู้ประกอบการก็ออกแพ็กเกจที่ทำให้อยู่ในเงื่อนไขนี้ได้ หรือการทำให้ค่าเฉลี่ยของแต่ละแพ็กเกจรวมกันลดลง 15% ทั้งๆที่การใช้งานจริงไม่ได้ใช้งานแพ็กเกจที่ลดราคาหรือว่ามีเงื่อนไขพิเศษอย่างที่ถูกกดดันที่ลดลงมา ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่ตอบสนองต่อความจริงเท่าที่ควร

"เรื่องราคาต้องเป็นอีกชุดหนึ่งของการพิจารณา เนื่องจากต้องประเมินก่อนว่าอัตราค่าใช้บริการคนไทยควรได้ใช้ราคาเท่าไหร่ และควรมีกี่ประเภท ทั้งนี้ในทางกำกับดูแลไม่แนะนำให้กำกับราคา แต่ให้ส่งเสริมการแข่งขัน เพราะการแข่งขันจะฉุดให้ราคาลงมาตามตลาด" ผศ.ปิยะบุตร กล่าว

ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยการเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงมูลค่าคลื่นที่ประมูลสูงที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการที่ผู้ประกอบการอาจผลักภาระมาให้นั้นว่าในความเป็นจริงค่าบริการจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับการแข่งขันในตลาด และความต้องการใช้งานของผู้บริโภคไม่เกี่ยวข้องกับราคาประมูลคลื่น นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลและ กสทช.ให้ระวังไม่ให้เกิดการล้มประมูลคลื่น 1800 MHz รวมถึงต้องเดินหน้าจัดการประมูลคลื่น 900 MHz ที่จะมีการประมูลกันในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ให้สำเร็จเพราะถ้าเหลือผู้ให้บริการ 4G เพียง 2 รายจะทำให้เกิดการตกลงราคากันง่าย ซึ่งถ้ามีผู้ให้บริการมากขึ้นจะทำให้ราคาค่าบริการถูกลง ขณะเดียวกันควรต้องคุ้มครองผู้บริโภคด้านราคาและคุณภาพบริการให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขการประมูล ทั้งกำหนดกติกาที่ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการในลักษณะที่ส่งเสริมการแข่งขัน เช่น การให้ผู้ประกอบการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ตลอดจนการนำรายได้จากการประมูลไปใช้สำหรับปรับโครงสร้างและฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนเร่งหาพันธมิตรให้รัฐวิสาหกิจเพื่อให้แข่งขันได้ระยะยาว

ส่วนช่วงเวลาที่คนไทยจะได้ใช้ 4G เมื่อไหร่นั้น ผศ.พรเทพ ประเมินว่าหากกระบวนการราบรื่นได้ใช้อีก 4 เดือน

ชมคลิปรายการตอบโจทย์ ตอน "เกมเกทับ" 4 ค่ายมือถือ "มาราธอน" ประมูล 4 จี ได้ที่ https://youtu.be/vxJeIkHAm7A


ข่าวที่เกี่ยวข้อง