ปิดตำนาน 11 ปี ค่ายหนังอารมณ์ดี
ด้วยบทเพลงฮิตในความทรงจำและเนื้อหาที่พาผู้ชมหวนรำลึกถึงอดีต ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง "แฟนฉัน" กลายเป็นปรากฏการณ์ ในปี 2546 ทั้งยังกวาดรายได้ไปถึง 137 ล้านบาท นี่คือความสำเร็จที่จุดประกายให้เกิดการรวมตัว ของ จีเอ็มเอ็ม ไทหับ (GTH) หนึ่งในค่ายหนังที่ทรงอิทธิพลที่สุดของวงการหนังไทย
จากเงินทุนของ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ บริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ค่ายหนังไทยมากประสบการณ์ และ หับ โห้ หิ้น โปรดักชั่นเฮ้าส์ของคนโฆษณาที่ฝันอยากทำหนังไทย การสร้างสรรค์ภาพยนตร์คุณภาพอย่างต่อเนื่องตลอด 11 ปี ทั้ง พี่มากพระโขนง กวนมึนโฮ เอทีเอ็ม เออรักเออเร่อ ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้ชมทั้งในไทยและต่างประเทศ จนได้ชื่อว่าเป็น "ค่ายหนังพันล้าน" จากสถิติรายได้สูงสุดตลอดการในบ็อกอ็อฟฟิสหนังไทย หากข่าวร้ายที่สุดของแฟนหนัง คือ นับตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปจะไม่เหลือ ชื่อของ GTH ซึ่งเคยเป็นเหมือนสัญลักษณ์การันตีหนังคุณภาพ
ความสำเร็จกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ของ GTH เกิดจากส่วนผสมที่ลงตัวทั้งความเชี่ยวชาญด้านการตลาดของกุนซือ วิสูตร พูลวรลักษณ์ ที่ได้ชื่อว่าคาดการณ์ตลาดหนังไทยได้แม่นยำที่สุด และความกล้าในการสร้างสรรค์ ของ จิระ มะลิกุล ที่อยู่เบื้องหลังไอเดียภาพยนตร์แทบทุกเรื่อง ทั้งยังเคยฝ่าฟันวิกฤตร่วมกันมาแล้วหลายครั้ง ทั้งผลจาก "มหาลัยเหมืองแร่" ภาพยนตร์ปี 2548 ที่ทำรายได้เพียง 30 ล้านบาท จากทุนสร้างและปัญหาการเลื่อนฉายของ หมากเตะรีเทิร์นส์ หนังปี 2549 ที่มีเนื้อหากระทบความสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีตัวเลขขาดทุนสะสมจนเกือบต้องปิดบริษัท แต่ด้วยความร่วมมือของทั้งผู้บริหารและทีมงานก็ทำให้ GTH พลิกกลับมาประสบความสำเร็จได้ด้วยงานคุณภาพอย่าง เพื่อนสนิท และ สี่แพร่ง ที่ทำรายได้ทะลุร้อยล้านในปีนั้น แต่ในวันนี้สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญกลับเป็นความไม่ลงรอยของคนที่เคยร่วมฝ่าฟันกันมา
แม้วันนี้จะไม่เหลือชื่อของค่ายหนัง GTH แต่มีการคาดการณ์ว่า หุ้นส่วนที่เคยอยู่เบื้องหลังค่ายหนังดังจะกลับมาเปิดบริษัทผลิตภาพยนตร์อีกครั้ง โดยเฉพาะในส่วนของ หับโห้หิ้น กับ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งเริ่มมีการพูดคุยถึงการร่วมงานในอนาคต ซึ่งจะมีการเปิดตัวบริษัทใหม่ในต้นเดือน ธ.ค.ที่จะถึงนี้