เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีให้ข้อมูลชาวบ้าน รับรู้ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเทพาของกฟผ.
วันนี้ (14 พ.ย.) ที่ อ.เทพาจ.สงขลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เปิดเวทีให้ความรู้ให้กับชาวบ้าน หมู่ 4 คองประดู่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อให้ชาวชุมชนรู้ข้อมูล ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่กำลังถูกผลักดันให้มีการก่อสร้างในพื้นที่อ.เทพา จ.สงขลา โดยมีประชาชนในชุมชนให้ความสนใจมาร่วมเวที
นายดิเรก เหมนคร สมาชิกเครือข่ายฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานและ กฟผ.ชอบบอกคนไทยว่า ต้องรีบสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะอีกไม่นานก๊าซจะหมดจากอ่าวไทย ไฟจะดับ คนจะเดือดร้อน แต่ความจริงคือโรงไฟฟ้าจะนะ ตั้งอยู่ในอ.จะนะจ.สงขลา ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงที่สอง ขนาด 750 เมกาวัตต์ และเพิ่งเปิดใช้เมื่อปี 2557 นี่เอง ซึ่งในอ.จะนะ เพียงพื้นที่เดียว มีโรงไฟฟ้าถึง 2 โรง อ.จะนะ และอ.เทพา มีพื้นที่ติดต่อกัน ดังนั้นหากก๊าชจะหมดจริง ๆ รัฐหรือกลุ่มทุนจะลงทุน 60,000 ล้านบาท สร้างโรงไฟฟ้ามาทำไม
นอกจากนี้ รัฐบาลและกฟผ.กำลังผลักดันให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน พื้นที่อ.เทพา ขนาด 2,100 เมกาวัตต์ โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของคนในพื้นที่ และเจ้าของโครงการฯ ก็จะใช้ทุกวิธีการ เพื่อผลักดันให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นให้ได้ เช่น เวทีรับฟังความเห็น ค 3.ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ก็ออกหนังสือห้ามชาวบ้านที่มีความเห็นต่างเข้าร่วมเวที เป็นต้น
นายดิเรกกล่าวต่อว่า พื้นที่อ.เทพา เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ มีความอุดมสมบูรณ์ของทะเลเทพา ทะเลเทพา เป็นทะเลเดียวกับหนองจิก จ.ปัตตานี จะเป็นที่รับรู้ของชาวประมงมาตั้งแต่อดีต ถึงอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแม่น้ำลำคลองหลายสายไหลลงทะเล เช่น แม่น้ำเทพา คลองตูหยง คลองเกาะหม้อแกง คลองชลประทานคลองตุยง แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำเหล่านี้จะพัดพาอินทรีย์วัตถุไหลลงทะเลเทพาและ ทะเลปัตตานี อ.เทพา มีพื้นที่ ป่าสงวน ป่าโกงกางผืนใหญ่มีลำคลองหลายสายเชื่อมโยงใยกันเหมือนเส้นเลือดในร่างกายของคนเรา ทำให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่มาก เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ แต่พื้นที่มีความสมบูรณ์เช่นนี้จะเกิดหายนะขึ้นแน่นอนถ้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
นายดิเรกกล่าวอีกว่า กฟผ.ไม่เคยบอกความจริงกับชาวบ้าน หากศึกษาจากเอกสารรายงาน เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียครั้งที่ 3 (ค.3)โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 ก.ค.2558 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง (อบต.ปากบาง) อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเป็นเวทีที่ฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่าง ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ออกคำสั่งเข้าร่วมเวที และผลสรุปเวทีค.3 ผ่าน เป็นการผ่านโดยไม่รับฟังความคิดเห็นคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ประเด็นสำคัญ จากเอกสารเวทีค.3 พบว่าในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,960 ไร่ มีมัสยิด 2 แห่ง กุโบว์ (สุสาน) 2 แห่งโรงเรียนปอเนาะ 1 แห่ง คือ มัสยิดมุตนาเอ็นน๊ะ มัสยิดบ้านคลองปะดู่ ปอเนาะตะเยาะซูตีบอ และต้องย้ายชุมชน 200 กว่าครอบครัว ข้อมูลเหล่านี้มีใครกี่คนที่รับรู้ ซึ่งกฟผ.ไม่เคยบอกชาวบ้าน ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญและอ่อนไหวอย่างยิ่ง ดังนั้นเวทีชาวบ้านที่ทางเครือข่ายฯ จัดขึ้น คนในชุมชนจะได้รับรู้และมีข้อมูลผลกระทบโดยตรง เพื่อใช้ในการตัดสินใจ