ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“เกษตรพันธะสัญญา เล่ห์ลวงเกษตรกรไทยที่รอการปลดปล่อย”

30 ม.ค. 55
11:37
92
Logo Thai PBS
“เกษตรพันธะสัญญา  เล่ห์ลวงเกษตรกรไทยที่รอการปลดปล่อย”

โดย คณะกรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

“แม้มีความหวังว่า การเริ่มต้นใหม่กับการทำเกษตร ในรูปแบบของเกษตรพันธะสัญญากับบริษัทใหม่ ที่คิดว่าจะทำให้ลืมตาอ้าปากได้ แต่กลับต้องทำให้พบกับความผิดหวังอีกครั้ง เหมือนหนีเสือปะจระเข้ ” นายโชคสกุล  มหาค้ารุ่ง อดีตเกษตรพันธะสัญญา สะท้อนความรู้สึก หลังจากผิดหวังในการทำเกษตรพันธะสัญญากับบริษัททุนยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง
  
นายโชคสกุล  มหาค้ารุ่ง อดีตเกษตรพันธะสัญญา เล่าว่า เมื่อปี 2546 ได้ทำเกษตรพันธะสัญญากับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศไทยแห่งหนึ่ง  โดยในขณะนั้นเลี้ยงหมูแม่พันธุ์ จำนวน 250 ตัว สาเหตุหลักที่ตัดสินใจทำสัญญาเพราะคิดว่าบริษัทใหญ่ น่าจะดูแลเกษตรกรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเห็นตัวอย่างจากเพื่อนบ้านที่เลี้ยงหมู่แม่พันธุ์ว่า ทำแล้วมีรายได้ดี พาไปดูฟาร์มตัวอย่าง พาไปกินข้าว เรียกว่าบริษัททำทุกอย่างเพื่อให้เกษตรเกิดความพึงพอใจและอยากลงทุน  เมื่อเห็นว่าเกษตรกรอยากทำ บริษัทจะพาไปแนะนำกับธนาคาร เพื่อจำนองหลักทรัพย์ และนำเงินมาลงทุนสร้างโรงเรือนเลี้ยงหมู
  
ตามนิยามขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เกษตรพันธะสัญญา หมายถึง “การตกลงระหว่างเกษตรกรและบริษัทแปรรูปหรือการตลาด เพื่อการผลิตและส่งมอบสินค้าเกษตร ภายใต้สัญญาที่ทำไว้ล่วงหน้า” (Eaton and Shepherd, 2001) ซึ่งจะพบว่าการแลกเปลี่ยนลักษณะนี้มีรูปแบบต่างจากธุรกรรมโดยทั่วไปที่ผู้ผลิตมักจะไม่ทราบข้อมูลทางด้านอุปสงค์ในช่วงเวลานั้นๆมาก่อน และจะมีการตกลงซื้อขายกันก็ต่อเมื่อสินค้าถูกผลิตออกมาแล้วเท่านั้น
  
นายโชคสกุล  เล่าต่อไปว่า หลังลงทุนสร้างโรงเรือนเลี้ยงหมูแม่พันธุ์ไปถึง 3 ล้านบาท แต่หลังจากได้ร่วมทำไปได้สักพัก ก็พบว่า ตัวเองหลงกลเข้าแล้ว ช่วงแรกก็มีรายได้จากกากรเลี้ยงหมู่แม่พันธุ์ แต่หลังจากมีความเสี่ยงด้านธรรมชาติเข้ามา เช่นหมูแม่พันธุ์บางส่วนตายด้วยภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ทางบริษัทจะไม่รับผิดชอบอะไรเลย  แต่ตัวเกษตรเองต้องแบกรับภาระความเสี่ยงดังกล่าวด้วยตัวเอง มาเจอตรงนี้ผมก็เรียกร้องอะไรได้ จนที่สุดต้องเลิกทำ เกษตรพันธะสัญญากับบริษัทแห่งหนึ่ง และได้หันหน้ามาทำเกษตรพันธะสัญญา กับอีกบริษัทด้วยความที่ยังมี โรงเรือนเลี้ยงหมู หากปล่อยทิ้งไว้ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และทำสัญญาในปี 2548 เลี้ยงหมูขุน โดยมีการรื้อเหล้าหมู
บางส่วนออกไป เพื่อปรับให้เลี้ยงหมูขุนได้ โดยหวังว่าครั้งนี้น่าจะสามารถทำให้ลืมตาอ้าปาก แต่แล้วก็ผิดหวังอีก  เพราะด้วยความที่เป็นเกษตรที่ชอบสงสัย เมื่อพบว่าบางอย่างไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็จะสอบถามไปยังบริษัทเสมอ
  
“ผมสงสัยว่า ยารักษาโรคที่ทางบริษัทเอามาให้ใช้มีคุณภาพดีจริงหรือไม่ รวมถึงเวลาที่ชั่งหมูทำไมไม่ชั่งตอนที่ออกจากเล้า แต่ทำไมไปชั่งหมูที่ปลายทาง เมื่อผมสงสัยมากเข้า ทางบริษัทจึงไม่ส่งหมูขุนมาให้เลี้ยงอีกเลย” โชคสกุล กล่าว
  
นี่เป็นเพียงปัญหาที่ โชคสกุลสะท้อนออกมา ซึ่งในความเป็นจริงมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่ต้องแบกรับภาระหนี้สินเอาไว้ ทั้งผู้เลี้ยง ไก่ หมู ปลากระชัง เกษตรที่ปลูกพืช  ทั้งมันสำหะหลัง ข้าวโพด ล้วนมีปัญหาไม่ต่างกัน ถ้ารวมเป็นตัวเลขแห่งความสูญเสีย รวมทั้ง อ.สันป่าตอง คงไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท บางคนที่เป็นหนี้ธนาคารจากการไปกู้เงินมาทำการเกษตร เมื่อไม่มีเงินไปใช้หนี้ ทรัพย์สินที่นำไปจำนอง กับธนาคารจะถูกขายทอดตลาด ขณะที่โชคสกุล เอง โฉนดที่ดิน 5 แปลงก็ถูกขายทอดตลาดไปแล้ว
  
“ทุกวันนี้เกษตรกรกลายเป็นผู้ล้มละลาย ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกขูดเลือดขูดเนื้อ เกษตรพันธะสัญญาที่ทำนั้น ไม่ได้สร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกร แต่กลับเป็นเกษตรพันธะสัญญาทาส ที่รอวันปลดปล่อยหนี้ ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะหลุดจากการเป็นทาส ขณะที่บางคนอาจต้องรอไปจนหมดลมหายใจ เนื่องจากโอกาสที่เกษตรกรพันธะสัญญาจะประสบความสำเร็จ มีความร่ำรวยนั้นยากมาก และทางบริษัทนายทุนเองเขาได้ทำวิจัยมาแล้วว่า การทำเกษตรแบบพันธะสัญญาจะทำให้นายทุน มีความเสี่ยงสูง เขาจึงปัดภาระตรงนี้ ให้กับเกษตรกร เพื่อเป็นผู้ผลิต และแบกภาระความเสี่ยงแทนบริษัทนายทุน” โชคสกุล สะท้อน
  
ปัจจุบันโชคสกุล หันมาทำอาชีพเกษตรแบบพอเพียง ตามรอยทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัว ให้อยู่รอดอย่างพอเพียง โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสถาบันชุมชนเกษตรยั่งยืน และรวมกลุ่มกับเกษตรกรที่ถูกนายทุนเอาเปรียบสร้างเป็นเครือข่าย ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาได้นั้น ทางรัฐ บริษัททุน ภาคเกษตรกร ต้องมาร่วมกำหนดวิธีการปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นธรรมว่าควรทำอย่างไร และนำไปเป็นประเด็นสู่สาธารณะ ซึ่งทางภาครัฐต้องเองก็ต้องหามาตรการมาดูแลเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งหากไม่ร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องสัญญาไม่เป็นธรรมตั้งแต่วันนี้ เกษตรทั้งภาคเหนือ ใต้ กลาง อีสาน จะประสบปัญหาภาวะล้มละลาย กลายเป็นสถานการณ์ยิ่งกว่าโจรปล้นธนาคาร โดยภาครัฐไม่ได้เข้ามามีส่วนในการสร้างความเป็นธรรมในระบบเกษตรพันธะสัญญา ทั้งในด้านการให้ความรู้ การความคุมและสร้างมาตรฐานให้เกิดสัญญา ที่เป็นธรรม และการเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่เกษตรกร ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่รัฐควรเร่งสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตร
  
สอดรับกับสมัชชาปฏิรูป 1 มติข้อ 7 ระบุว่าการปฏิรูปการกระจายอำนาจเพื่อสร้างและพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งหากรัฐและนายทุนสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรพันธะสัญญาได้ จะช่วยลดภาระหนี้สินให้กับเกษตรลงได้
  
ขณะที่อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า เกษตรพันธะสัญญาแต่เดิมเป็นระบบ Contract Farming มีความหมายออกไปในเชิงบวก คือมีการตกลงทำฟาร์มร่วมกันระหว่างบริษัท ที่ผลิตอาหาร กับเกษตร  ในเรื่องการรับซื้อผลผลิต การผลิต ราคา พันธุ์สัตว์ และอาหาร และนำไปสู่
เรื่องการตลาดสินค้าล่วงหน้า ที่บริษัทนายทุนกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไว้แล้ว แต่ในความเป็นจริง การทำเกษตรพันธะสัญญาทุกวันนี้ คนที่เข้ามาทำข้อตกลงกับเกษตรในพื้นที่ กลับไม่ใช่บริษัทใหญ่ที่เข้ามาทำคู่สัญญา  แต่กลับเป็นเครือข่ายคนกลางที่เป็นนกต่อให้กับบริษัทใหญ่ เรียกว่านายหน้าที่เข้าติดต่อกับเกษตร
  
“การทำข้อตกลงสัญญาในลักษณะนี้เมื่อมีความเสี่ยงเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ของเกษตร เกษตรกรจะมีไม่สิทธิ์เรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัทใหญ่ๆ ได้ เนื่องด้วยคนที่ทำข้อตกลงกับเกษตรคือนายหน้าในพื้นที่ และทำให้เกษตรกรต้องจำยอม ทำต่อไป หากจะเลิกเพราะพบความเสี่ยงก็ยากที่จะทำได้ เนื่องจากได้ลงทุนเงินไปจำนวนมาก หากไม่ทำก็ไม่มีเงินไปใช้หนี้ ที่ไปกู้จากธนาคารมาลงทุนในตอนแรก จนเกิดเป็นสัญญาทาสมากกว่าจะเป็น Contract Farming
  
“สิ่งที่เกษตรกรต้องประสบนอกจากความไม่เท่าเทียมกันในการทำสัญญาแล้ว ที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน เพราะเกษตรไม่มีอำนาจในการต่อรอง ยังต้องประสบนอกจากรับภาระความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  นอกจากนี้นายหน้าที่เข้ามาติดต่อทำสัญญา ยังกดราคาสินค้าของเกษตรให้ต่ำว่าการค้าในตลาด ตลอดจนเกิดปัญหา
ผูกขาดการผลิต รวมถึงหากเกษตรผลิตสินค้าไม่ได้ตามที่นายทุนวางไว้ก็จะถูกระงับสินค้า จนขายสินค้าไม่ได้  และไม่มีเงินมาใช้หนี้ ขณะที่นายทุนเองกลับสามารถเลือกรับแต่สินค้าที่ดีกว่า มีมาตรฐานมากกว่า  เกษตรบางรายจากที่เคยทำเกษตรบนพื้นที่ของตัวเองเลี้ยงปากท้อง แต่หลังเกิดหนี้สินไม่มีเงินจ่ายธนาคาร จนที่ดิน ถูกขายทอดตลาด ทำให้เจ้าของต้องมาเช่าพื้นที่ตัวเองทำการเกษตรในที่สุด” อาจารย์ ไพสิฐ กล่าว
 
ทั้งนี้อาจารย์ไพสิฐ เสนอแนวทางแก้ปัญหาว่า ต้องมีกลไกรัฐเข้ามาดูแล และถึงแม้จะมีกรมตรวจสอบหน่วยงานรัฐ ที่เข้ามาจับเรื่องนี้โดยตรงก็ยังแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นยาก เพราะหลักใหญ่ต้องให้เครือข่ายผู้บริโภคเข้ามาช่วยเหลือเกษตร เนื่องจากเป็นพลังสังคม ช่วยในการตรวจสอบได้มาก แต่หากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่สนใจ ปัญหาที่เกษตรกรกำลังประสบ ขอเป็นผู้บริโภคอย่างเดียว ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น
 
นายนนท์  นุชหมอน นักวิจัยอิสระ กล่าวถึงสาเหตุหลักที่เกษตรกรหันมาทำเกษตรพันธะสัญญามากขึ้นนั้นเนื่องจากสาเหตุหลักที่มาจากรายได้ ที่เห็นว่าได้ผลตอบแทนสูง แต่ข้อสรุปตรงนี้ยังไม่ได้ทำครอบคลุมในทุกพื้นที่ เนื่องจากในบางพื้นที่กลับประสบปัญหาการขาดทุนมากกว่าที่จะได้กำไร จนทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น โดยในช่วงแรกที่เกษตรต้องการทำเกษตรพันธะสัญญาแต่ไม่มีเงินในการลงทุน ต้องไปกู้เงินเพื่อนำมาซื้อพันธุ์สัตว์ หรือต้องไปสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์  ถ้าใครไม่มีเงินก็ต้องไปจำนอง หรือกู้เงินจากธนาคาร แต่บางบริษัทก็ใจดีให้เอาของไปลงทุนโดยที่ไม่ต้องเสียเงินก่อน  เมื่อผลิตสินค้าออกมาแล้วค่อยหักจากสินค้าก็ได้ ตรงนี้ก็เกิดแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านอยากทำอาชีพนี้  นอกจากนี้สินค้าจำพวกพันธ์สัตว์ ยา และอาหารต่างๆ ราคาในช่วงแรกที่เกษตรซื้อขายนั้นจะไม่แพงมาก แต่หลังจากทำไปได้ สักพักจะมีการปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกษตรกรใช้หนี้ไม่ทัน เพราะขายสินค้าขาดทุน
  
นายนนท์ อธิบายต่อว่า ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการทำข้อสัญญาที่ผูกมัดให้เกษตรไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ คือบริษัทสามารถเปลี่ยนแปลงสัญญาได้ เช่น หากนัดว่าจะมารับสิ้นค้าในวันนี้ แต่กลับมาช้ากว่าวันที่นัด นายทุนไม่จำเป็นต้องแจ้งล้วงหน้า แต่เกษตรกรกลับไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนวันที่รับส้นค้าได้ และหากไม่ตรงตามที่กำหนดก็จะถูกปรับทันที รวมถึงเรื่องการขายสินค้าในราคาที่ผูกขาด ทั้งที่ความจริงสินค้า ในท้องตลาดอาจขาดได้ในราคาที่สูงกว่า ซึ่งหากคุณภาพไม่ดีตามที่บริษัทกำหนด บริษัทมีสิทธิ์ไม่รับซื้อสินค้านั้นได้ รวมถึงความเสี่ยงในเรื่องภัยธรรมชาติ ที่เมื่อประสบภัย บริษัทที่เป็นนายทุนไม่จะเป็นต้องรับผิดชอบ เพราะในสัญญาระบุเลยว่า หากเกิดเหตุการณ์อะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้ส่งสินค้าไม่ทันการผู้รับผิดชอบคือเกษตรกร
  
นายนนท์ ปิดท้ายว่า อย่างไรก็ตามจากความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในทางการวิจัยเองยังไม่มีข้อสรุปแบบฟันธงว่ากาทำเกษตรพันธะสัญาจะล้มเหลว 100 เปอร์เซ็นต์ หรือเป็นความเลวร้ายของเกษตรกรที่ต้องรับกรรมนี้ไป เพราะที่ผ่านมาก็มีเพียงกรณีตัวอย่างที่ออกมาว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น จึงต้องรอการวิจัยอย่างสมบูรณ์ก่อนถึงจะสามารถระบุได้ว่าเกษตรพันธะสัญญาคือความล้มเหลว
  
คงไม่ใช่เรื่องยากหากเกษตรกรจะหันมาทำการเกษตรแบบพันธะสัญญา แต่หัวใจหลักของการตัดสินใจมาทำนั้น เกษตรกรควรศึกษาข้อสัญญาให้ลึกซึ้ง เพราะเป็นการลงทุนที่สูง  และต้องศึกษาผลสำเร็จ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างละเอียด เพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง