คนไทยพลัดถิ่นเฮ ส.ว.ลงมติไม่แก้มาตรา 3 พ.ร.บ.สัญชาติ

สังคม
30 ม.ค. 55
11:47
13
Logo Thai PBS
คนไทยพลัดถิ่นเฮ ส.ว.ลงมติไม่แก้มาตรา 3 พ.ร.บ.สัญชาติ

ฝ่ายค้านยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก.เงินกู้ และ พ.ร.ก.การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูแล้ว ขณะที่ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 3 ของร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ ซึ่งกรรมาธิการเพิ่มข้อความที่ทำให้กลุ่มคนไทยพลัดถื่นบางส่วนที่เคลื่อนไหวจะไม่ได้สัญชาติไทย

เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นในจังหวัดระนอง, ประจวบคิรีขันธ์ และ จังหวัดตราด ซึ่งชุมนุมบริเวณด้านหน้ารัฐสภาเพื่อรอฟังการพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภาในการลงมติ พ.ร.บ.สัญชาติ ได้กล่าวขอบคุณ ส.ว. และแสดงความดีใจ ภายหลังที่ประชุมวุฒิสภาเสียงส่วนใหญ่มีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 3 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ได้เพิ่มข้อความ "ก่อนวันที่ พระราชบัญญัติสัญชาติ จะมีผลบังคับใช้" มาต่อท้ายในมาตราดังกล่าว ซึ่งจะทำให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นบางส่วนที่ไม่ได้มีชื่อในทะเบียนของกระทรวงมหาดไทยไม่มีโอกาสได้สัญชาติไทย

ขณะที่การประชุมวุฒิสภายังคงพิจารณา พ.ร.บ.สัญชาติ อยู่ในวาระที่สอง และ จะต้องมีการลงมติทั้งฉบับในวาระที่สามอีกครั้งซึ่งหากมีมติยืนตามร่าง พ.ร.บ.เดิมของ ส.ส.ที่กรรมาธิการยังไม่ได้แก้ไขเนื้อหา พระราชบัญญัติสัญชาติจะถูกประกาศใช้เป็นกฏหมายโดยไม่ต้องส่งกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอีกครั้ง

ขณะที่นายกรณ์ จาติกวานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำรายชื่อ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 128 คน ยื่นคำร้องต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกำหนด 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงินกู้ประมาณ 350,000 ล้านบาท และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 หรือ การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1,140,000 ล้านบาทไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยบริหาร โดยเห็นว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องออกเป็นพ.ร.ก.

ทั้งนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎ ระบุว่า ได้บรรจุวาระ พ.ร.ก.กู้เงินทั้งสี่ฉบับอยู่ในวาระการประชุมวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์แล้ว จึงต้องมีการพิจารณาไปตามวาระ แต่หากกระบวนการยื่นของฝ่ายค้านมีความถูกต้อง จะแจ้งให้สมาชิกรับทราบและยุติการพิจารณาจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยในวันพรุ่งนี้ ( 31 ม.ค.) ทางกลุ่ม ส.ว.จะยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก.การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1,140,000 ล้านบาท เช่นเดียวกัน 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง