ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศึกหนักของ "พล.อ.อุดมเดช" เมื่ออุทยานราชภักดิ์ลามเป็นกระแสกดดันให้ลาออก

การเมือง
1 ธ.ค. 58
14:27
260
Logo Thai PBS
ศึกหนักของ "พล.อ.อุดมเดช" เมื่ออุทยานราชภักดิ์ลามเป็นกระแสกดดันให้ลาออก

การตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ได้ลุกลามกลายมาเป็นกระแสกดดันให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมลาออก ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลโครงการนี้ตั้งแต่สมัยที่เป็นผู้บัญชาการทหารบกและยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิราชภักดิ์ แต่คำพูดที่ดูเหมือนเป็นแรงกดดันที่หนักหน่วงที่สุดน่าจะเป็นคำพูดของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวานนี้ (30 พ.ย.2558) ว่าพล.อ.อุดมเดช "ต้องคิดเอง" ว่าจะลาออกหรือไม่

นอกจากจะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว พล.อ.อุดมเดชยังเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ร่วมทำงานกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.มาตั้งแต่รัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 นับตั้งแต่กระแสข่าวเรื่องการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์เกิดขึ้นจากการออกหมายจับนายทหารคนสนิทของพล.อ.อุดมเดช เขาปิดปากเงียบมาตลอด ขณะที่นายกฯ ยืนยันหลายครั้งว่าปัญหาที่ใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์เป็นเรื่องของกองทัพบก ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล

จนกระทั่งวันที่ 10 พ.ย.2558 พล.อ.อุดมเดชออกมาให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรกโดยยอมรับว่ามีการแอบอ้างโครงการนี้เรียกค่าหัวคิวโรงหล่อพระบรมรูปบูรพกษัตริย์ในโครงการอุทยานราชภักดิ์ แต่ปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขแล้ว ส่วนเงินที่มีการหักค่าหัวคิวไปนั้นก็ได้มีการนำมาคืนในรูปของเงินบริจาค

"ในส่วนของเรื่องการเรียกรับค่าหัวคิวจากโรงหล่อ มีความจริงอยู่ส่วนหนึ่งแต่ไม่ทั้งหมด ทุกวงการคิดว่ามีสิ่งเหล่านี้ ซึ่งพอเราทราบว่าน่าจะมี เราก็เข้าไปดำเนินการและโรงหล่อต่างๆ ก็มีความเข้าใจ คนที่สอดแทรกมาก็เป็นการแอบอ้าง ต่อมาทุกอย่างก็ยุติลงไปด้วยดีและสิ่งที่โรงหล่อต่างๆ อาจจะถูกหลอกก็เป็นเรื่องที่โรงหล่อสามารถจะไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปในทางที่เสียหาย ก็ทำให้เป็นเรื่องของการบริจาคโดยสมัครใจหรือกลับไปทำงานให้สมบูรณ์ ทุกอย่างจบสิ้นด้วยความเรียบร้อย สะอาด บริสุทธิ์ทุกขั้นตอน" พล.อ.อุดมเดชกล่าว

แต่การชี้แจงผ่านสื่อมวลชนในวันนั้น ยังไม่อาจคลายข้อกังขาของสาธารณชนได้ อีกทั้งนายทหารที่เคยทำงานใกล้ชิดกับพล.อ.อุดมเดช 2 คน คือ พ.อ.คชาชาต บุญดี และพล.ต.สุชาติ พรมใหม่ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิราชภักดิ์ที่พล.อ.อุดมเดชเป็นประธานอยู่ก็ถูกออกหมายจับในความผิดตามมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย

แรงกดดันต่อพล.อ.อุดมเดชเพิ่มขึ้นเมื่อพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2558 เรียกร้องให้ พล.อ.อุดมเดชลาออกจากตำแหน่งเพื่อความสง่างาม พร้อมกับอ้างถึงเอกสารเพื่อยืนยันว่าโครงการนี้ ไม่ใช่เรื่องภายในกองทัพบก เพราะครม.เคยมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงกลาโหมให้กองทัพบกเป็นหน่วยงานหลักในการจัดสร้าง และมีการรายงานความคืบหน้าให้ครม.รับทราบ ทำให้มีการคาดการณ์ว่า หากพล.อ.อุดมเดช ลาออก ปัญหาอาจไม่ยุติอยู่ที่เรื่องของกองทัพบกหรือตัวพล.อ.อุดมเดชเท่านั้น

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.ประวิตรได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ขึ้นอีกครั้ง โดยให้พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ขณะที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็เริ่มตรวจสอบความผิดปกติในโครงการอุทยานราชภักดิ์ด้วย หลังจากพบว่ามีการใช้งบฯ กลางกว่า 63 ล้านบาทในการปรับพื้นที่ แต่จนถึงขณะนี้ทั้ง สตง.และป.ป.ช. และคณะกรรมการของกองทัพบกและกระทรวงกลาโหมก็ยังไม่สรุปว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น

เมื่อวานนี้ (30 พ.ย.) พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงแรงกดดันให้พล.อ.อุดมเดชลาออกว่าให้เป็นดุลยพินิจของพล.อ.อุดมเดชเอง "ท่านก็มีวุฒิภาวะเยอะแล้ว เป็นถึงอดีตผบ.ทบ.ท่านก็คงจะคิดของท่านอยู่ว่าท่านจะต้องทำอะไร ผมไม่ต้องไปบอกท่านหรอกว่าต้องอย่างนี้ๆ เพราะท่านไม่ใช่เด็ก" พล.อ.ประวิตรกล่าว

ล่าสุดวันนี้ (1 ธ.ค.) พล.อ.อุดมเดชยืนยันว่าจะทำหน้าที่ต่อและพร้อมเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ โดยบอกว่าเขาไม่หนักใจต่อกระแสกดดันเพราะมั่นใจว่าตนคิดดีและทำดี "แต่ขณะนี้อาจจะมีคนบางคนหรือบางกลุ่มนั่งยิ้มอยู่ก็ได้ว่าสิ่งที่เขาพยายามทำเหมือนยิงนกได้หลายตัว ก็คิดดูแล้วกันว่าเราตั้งใจทำให้สีขาวและเป็นสีขาว แต่เขาตั้งใจทำให้สีขาวเป็นสีดำ ถ้าทำสำเร็จ ผมก็คิดว่าประเทศชาติก็อันตราย"

แม้พล.อ.อุดมเดชจะย้ำถึงความบริสุทธิ์ของโครงการอุทยานราชภักดิ์อีกครั้ง แต่ก็ยังคงมีคำถามว่าได้มีการดำเนินคดีหรือดำเนินการใดๆ กับผู้ที่แอบอ้างหาผลประโยชน์แล้วหรือไม่ทั้งๆ ที่พล.อ.อุดมเดชดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น และประธานมูลนิธิราชภักดิ์ซึ่งรับผิดชอบโครงการนี้โดยตรง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง