ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จี้ทหารปล่อย “ฐนกร” โพสต์ข้อมูลราชภักดิ์ ถูกคุมตัวหายลึกลับ 4 วัน-ไม่อยู่ในมทบ.11

การเมือง
11 ธ.ค. 58
15:13
279
Logo Thai PBS
จี้ทหารปล่อย “ฐนกร” โพสต์ข้อมูลราชภักดิ์ ถูกคุมตัวหายลึกลับ 4 วัน-ไม่อยู่ในมทบ.11

วันนี้ (11 ธ.ค.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ต่อการบังคับให้สูญหาย นายฐนกร ศิริไพบูลย์ ระบุว่า

ตามที่นายฐนกร ศิริไพบูลย์ พนักงานบริษัทเอกชน ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจากบริษัทเอกชนย่านสมุทรปราการเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2558 จากกรณีที่พล.ต.วิจารณ์ จดแตง พร้อมด้วย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวหาว่า นายฐนกรกระทำความผิดตามมาตรา 14 พระราชบัญญัติการกระทำความความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 112 และมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากการโพสต์ข้อมูลการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการติดต่อจากญาตินายฐนกร เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2558 จึงได้ติดตามสอบถามไปยังเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลทหารบกที่ 11 แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้แจ้งว่า ไม่มีตัวนายฐนกรอยู่ในความควบคุม และไม่ทราบว่านายฐนกรอยู่ที่ใด ในขณะที่เจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัด นอกเครื่องแบบ อีกรายหนึ่งได้แจ้งว่า การควบคุมตัวนายฐนกร เป็นการควบคุมตัวตามอำนาจในมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งไม่สามารถแจ้งได้ว่านายฐนกรถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด

ต่อมาวันที่ 11 ธ.ค.2558 ญาตินายฐนกรได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจสมุทรปราการว่า คดีดังกล่าวมีการแจ้งความที่กองบังคับการปราบปราม ให้ลองไปสอบถามข้อมูลที่ดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงได้ไปติดตามที่กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม แต่ไม่พบตัวนายฐนกร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่า คดีดังกล่าวได้มีการมาแจ้งความและออกหมายจับแล้ว แต่ยังไม่มีการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด

ทั้งนี้นับแต่ที่นายฐนกร ถูกจับและควบคุมตัวไปโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2558 จนปัจจุบันเป็นเวลา 4 วัน ที่ญาติและทนายความพยายามติดตามตัวนายฐนกร แต่ไม่ได้รับการแจ้งข้อมูลที่เป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับนายฐนกรได้ และยังไม่ทราบว่า เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวนายฐนกรไว้ที่ใด และมีชะตากรรมเป็นเช่นไร

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคล โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ซึ่งให้อำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวัน โดยปกปิดสถานที่ควบคุมตัวนั้น เป็นการละเมิดพันธกรณีอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามแล้วตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2555 เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และตามมาด้วยการปกปิดสถานที่ควบคุมตัว ทำให้บุคคลอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย ซึ่งตั้งแต่ประกาศใช้คำสั่งดังกล่าวไม่มีกรณีใดเลยที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ ดังนั้นนายฐนกร ศิริไพบูลย์จึงถือเป็นบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.2558

การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารที่ควบคุมตัวบุคคลโดยปกปิดสถานที่นั้น อาจส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เช่น การทรมาน หรือการฆ่านอกระบอบกฎหมาย และทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวขาดหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง เช่น สิทธิเข้าถึงทนายความ สิทธิที่จะได้พบญาติ สิทธิที่จะติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก สิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลให้พิจารณาความ ด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว เป็นต้น อันเข้าข่ายการควบคุมตัวโดยพลการหรือโดยอำเภอใจ เป็นการละเมิดพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและขัดกับมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนเคยได้รับการคุ้มครองตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยมีอยู่แล้ว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติเคารพต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ ตามที่ประกาศไว้ต่อประชาชนและประชาคมโลก โดยยุติการใช้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และขอให้เปิดเผยสถานที่ ที่ใช้ในการควบคุมตัวบุคคล เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามข้อ 14 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง