ผลสำรวจของสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม พบว่า อาชีพเลขานุการและนักกฎหมายมีแนวโน้มที่จะมีรายได้แซงหน้าสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเคยมีรายได้สูง เนื่องจากการค้าในปัจจุบัน ต้องการบุคลากรที่มีความชำนาญการใน 2 ด้านนี้มากขึ้น
ผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการระหว่างปี 2554-2555 จาก 206 บริษัท ใน 20 กลุ่มอุตสาหกรรม ยังได้เผยผลสำรวจอัตราค่าจ้างขั้นต้น สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์จำแนกตามสาขาวิชา พบว่า ผู้ที่จบ ปวช.สาขาเกษตรศาสตร์ จะได้รับค่าจ้างขั้นต้นสูงที่สุด รองลงมาเป็นศิลปกรรม คอมพิวเตอร์ ส่วนค่าจ้างต่ำสุดคือสาขาการขายและการตลาด
ส่วนผู้ที่จบ ปวส.สาขาออกแบบและสถาปัตยกรรม ได้รับเงินเดือนมากสุด ระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ค่าจ้างสูงสุดคือสาขาวิศวกรรมศาสตร์ และปริญญาเอก พบว่า สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ จะได้รับค่าจ้างสูงที่สุด
ผศ.วิชิต อู่อ้น คณบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวถึงนโยบายปรับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาท ว่าจะส่งผลกระทบต่อนายจ้างในภาพรวมทุกขนาดกิจการ โดยเฉพาะขนาดเล็ก ที่นายจ้างจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น จนต้องลดวุฒิการศึกษาของคนงานลง เพื่อเลี่ยงการจ่ายค่าจ้างอัตราสูง
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงต้องรักษาแรงงานทักษะสูงไว้ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ กฎหมาย และพยาบาล พร้อมระบุว่า การปรับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี ควรให้ความสำคัญกับพนักงานเดิมที่มีประสบการณ์ด้วย โดยการปรับค่าจ้าง ควรคำถึงประสบการณ์ ช่วงเวลาการทำงาน และต้องมีมาตรฐานในการวัดค่า เพื่อรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพ