จากกรณีที่มีข่าวจะมีการเสนอชื่อนายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ ประธานบริษัททีวีไดเร็ค อินโดไชน่า จำกัด และ นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลก เข้าสรรหาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังในบอร์ด สปสช.แทนนางวรานุช หงสประภาส อดีตผู้บริหารสำนักงบประมาณที่ได้ลาออก และนายวิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุข ได้สั่งเลื่อนการประชุมกระทันหันจากเดิมจะมีขึ้นในวันที่ 17 กพ.ที่ผ่านมา เป็นวันที่ 28 กพ. นี้ โดยกรรมการที่เดินทางเข้าร่วมประชุมในวันนั้นไม่ได้รับแจ้งสาเหตุการเลื่อนประชุมว่าเกิดจากสาเหตุอันใด
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เปิดเผยว่า เนื่องจากเหสถานการณ์ขณะนี้ที่สังคมกำลังจับตาดูด้วยความเป็นห่วงกับการเปลี่ยนแปลงภายในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดปัจจุบันที่มีตัวแทนฝ่ายการเมืองและกลุ่มธุรกิจเอกชนเข้าเป็นเสียงข้างมากในการกำหนดนโยบาย ทำให้งานของ สปสช. ที่เคยเดินหน้าอย่างดีต้องหยุดชะงักลงจนหลายคนวิตกว่าเป็นแผนล้มระบบบัตรทองตามที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาเปิดเผย เรื่องนี้ตนเห็นว่าผู้ที่จะมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง ของบอร์ด สปสช. นอกจากจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการเงินการคลังเป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่มีผลงาน มีความอิสระ และมีต้นทุนทางสังคมสูงเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเทียบเท่ากับอดีตที่ผ่านมาที่ได้ ดร.อัมมาร สยามวาลา หรือ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบการเงินการคลังของบอร์ด สปสช. ทำให้งานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกประเทศ
“ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังในบอร์ด สปสช. เป็นตำแหน่งที่สำคัญรองลงมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นประธานบอร์ดโดยตำแหน่ง ไม่ควรจะเป็นข้าราชการประจำ เพราะในบอร์ด สปสช. มีปลัดกระทรวงการคลัง และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ รวมทั้งปลัดกระทรวงอื่นๆ เป็นกรรมการอยู่แล้ว หรือจะต้องไม่เป็นนักธุรกิจ นายทุนพรรคการเมืองที่สังคมมองว่าจะเข้าไปแสวงหาประโยชน์จากกองทุน สปสช.ที่แต่ละปีมีเงินนับแสนกว่าล้านบาท และในสถานการณ์ที่สังคมเคลือบแคลงใจอยู่นี้ จากที่มีชื่อว่าตนถูกเสนอเข้ารับการคัดเลือกเข้าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังในบอร์ดสปสช. ตนขอถอนตัวจากการเสนอชื่อดังกล่าว โดยเห็นว่าถ้าได้ ดร.อัมมาร หรือ ดร.โอฬาร คนใดคนหนึ่งเสียสละเข้ารับภาระเป็นผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวอีกสมัย ก็จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และทำให้ปมปัญหาที่ถูกผูกไว้ คลี่คลายไปได้อีกเปาะหนึ่ง” นายแพทย์วิโรจน์กล่าว
สำหรับ การเคลื่อนไหวคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังที่ รมว.สาธารณสุข สั่งให้เลื่อนเป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า แพทย์ชนบทและเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรังกลุ่มต่างๆและนักวิชาการอดีตผู้บริหารสาธารณสุขอาวุโส กำลังจับตาดูความจริงใจของนายวิทยา รมว.สาธารณสุข และรัฐบาลว่าจะเลือกพัฒนาระบบบัตรทองต่อ หรือ จะบอนไซให้เป็นระบบอนาถากลับไปก่อนยุค นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ได้สร้างไว้ และในวันที่ 24 กพ.นี้ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และกรรมการชมรมจากทุกภาค รวมทั้งอดีตประธานชมรมจะเข้าพบ นายวิทยา เพื่อทวงถามความจริงใจอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นจะประชุมร่วมกับเครือข่ายต่างๆเพื่อกำหนดมาตรการในการปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ให้ถูกล้มโดยกลุ่มผลประโยชน์ทับซ้อนที่เข้ายึดกุมกลไกกำหนดนโยบายการบริหารของทุนและจำกัดสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยในระบบของ สปสช.ให้เป็นแบบอนาถา และชมรมแพทย์ชนบทจะแถลงข่าวให้สังคมทราบต่อไป