ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เสียงวิพากษ์ หนทางดับไฟใต้ กรณีพูดคุย "มารา ปาตานี"

ภูมิภาค
18 ธ.ค. 58
20:02
139
Logo Thai PBS
เสียงวิพากษ์ หนทางดับไฟใต้ กรณีพูดคุย "มารา ปาตานี"
การพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ที่เป็นความพยายามในการแสวงหาสันติภาพครั้งใหม่ระหว่างกลุ่ม "มารา ปาตานี" และตัวแทนรัฐบาลไทยที่ประเทศมาเลเซียเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2558 ถูกตั้งคำถามว่าจะดับไฟใต้ได้จริงหรือไม่ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ประมวลทัศนะจากบุคคลหลากหลายภาค

รศ.ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะนาม อดีตประธานกลุ่มเบอร์ซาตู ระบุว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมามีการพูดคุยเจรจาเกิดขึ้นกว่าร้อยครั้ง กลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐหรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบได้มีโอกาสเข้าร่วมครบทุกกลุ่ม แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ แสดงว่าจับไม่ถูกจุด โดยย้ำว่าสถานการณ์ปัจจุบันต่างจากในอดีต การแก้ปัญหาวันนี้จะต้องเริ่มจากการหาตัวต้นเหตุที่แท้จริงก่อนว่าคือใครกันแน่ แล้วค่อยดำเนินการหรือพูดคุยเจรจาเมื่อรู้ว่าใครเป็นใคร

"การแก้ปัญหาภาคใต้วันนี้ต้องเปลี่ยนวิธีการ ไม่ใช่การเจรจาแล้ว แต่ต้องสืบให้รู้ตัวการที่แท้จริงก่อน ไม่ใช่การแห่ไปเจรจาทั้งที่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นตัวการ และการหาตัวการที่แท้จริงไม่ใช่ไปที่อเมริกา ไม่ใช่ไปหาที่ตะวันออกกลาง ไม่ใช่ไปหานอกประเทศ ต้องหาในสามจังหวัดภาคใต้นี่แหละ เพราะพวกเขาอยู่ที่นี่ และคนที่จะแก้ปัญหาได้คือคนไทย ต้องแก้ปัญหาในประเทศไทย ไม่ใช่ให้คนประเทศอื่นมาแก้หรือไปแก้นอกประเทศ" ดร.วัน กาเดร์ กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.ครองชัย หัตถา ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แสดงทัศนะในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ว่า คนเมืองปัตตานีดั้งเดิมแต่โบราณนั้น ปัจจุบันบางส่วนย้ายออกไปอยู่จังหวัดอื่นๆ บางส่วนย้ายออกไปอยู่มาเลเซีย บางส่วนยังคงอยู่ที่ปัตตานี คนเหล่านี้เป็นคนไทย แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีคนอีกกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับเมืองปัตตานี ไม่ใช่คนไทย เป็นคนอื่นเข้ามามีบทบาท

"ดังนั้นการพูดคุยกับ 'มารา ปาตานี' ถ้าเป็นการคุยกับคนปัตตานีซึ่งเป็นคนไทย ก็คุยเถอะครับ แต่ถ้าเขาไม่ใช่คนไทย ต้องคิดว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เพราะฉะนั้นเราควรรู้ก่อนว่าใครเป็นใครก่อนที่จะคุย" ศ.ดร.ครองชัย กล่าว

ที่น่าสนใจคือ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ตอบคำถามในระหว่างบรรยาย ซึ่งมีผู้ถามว่า เหตุที่สถานการณ์ความรุนแรงภาคใต้ในขณะนี้มีเหตุรุนแรงลดลงเป็นผลมาจากการพูดคุยกับกลุ่มมารา ปาตานีหรือไม่ แม่ทัพภาคที่ 4 ตอบแต่เพียงว่า "เหตุที่สถานการณ์รุนแรงเบาบางลงได้ เป็นเพราะ 2 ปัจจัย คือ ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ชาวบ้านมีการดูแลกันเองมากขึ้น และประชาชนมีความเข้าใจกันมากขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่ใช้ยุทธศาสตร์ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ด้วยกลยุทธ์ ปรับทุกข์ ผูกมิตร ร่วมคิด ร่วมทำ”

ขณะที่ มะแอ สะอะ หรือ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ อดีต ผบ.กองกำลังแบ่งแยกดินแดนขบวนการพูโลหรือองค์การปลดปล่อยสหปาตานี ผู้มีบทบาทสำคัญต่อสถานการณ์ชายแดนใต้ของไทย ก็ไม่ได้กล่าวถึงการพูดคุยกับ “มารา ปาตานี” มากนัก แต่ให้น้ำหนักกับประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้คนชายแดนใต้มีอาชีพที่มั่นคง สังคมที่มีคุณภาพ ยุติธรรม ไม่เหลื่อมล้ำ โดยย้ำว่าสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความสงบสุข เพราะโลกในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วไม่ใช่เรื่องการแบ่งแยกดินแดนอีกต่อไป ควรหันมามุ่งการพัฒนามากกว่า พร้อมทั้งระบุว่า อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจะเป็นช่องทางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของคนมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

ขณะที่ขบวนจักรยานโครงการปั่นรวมใจไทย จากแม่สาย จ.เชียงราย สู่ อ.เบตง จ.ยะลา ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่พยายามสื่อสารให้เข้าใจสถานการณ์ใต้ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงและพัฒนา หลายคนในขบวนจักรยานที่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็สะท้อนว่า ตอนนี้สถานการณ์ความรุนแรงเบาบางลง เหตุการณ์จำนวนหนึ่งมีสาเหตุจากการขัดผลประโยชน์โดยเฉพาะจากสิ่งผิดกฎหมาย เช่น บ่อนการพนัน ยาเสพติด การค้าของเถื่อน น้ำมันเถื่อน ฯลฯ ขณะที่บางเรื่องก็เป็นเรื่องส่วนตัว เช่น การกดขี่ ขูดรีด ชู้สาว จึงเห็นว่าแนวทางดับไฟใต้ รัฐต้องขจัดความเหลื่อมล้ำ จริงจังกับการปราบปรามผลประโยชน์ในสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ และมุ่งเน้นการพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต คุณภาพสังคม เพราะเมื่อเศรษฐกิจดี คุณภาพชีวิตประชาชนดี ก็จะทำให้สิ่งผิดกฎหมายและผู้ก่อเหตุค่อยๆ ลดน้อยลงเอง ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ความรุนแรงก็จะลดน้อยลงไปด้วย

มารา ปาตานี เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ราวเดือนตุลาคม 2557 ประกอบไปด้วย บีอาร์เอ็น สายสนับสนุนการพูดคุย กลุ่มบีไอพีพี กลุ่มจีเอ็มไอพี และพูโลย่อยอีก 3 กลุ่ม ได้มีการพูดคุยเพื่อสันติภาพในกระบวนการสร้างสันติสุขชายแดนใต้กับตัวแทนรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2558 ที่ประเทศมาเลเซีย โดยเรียกร้องให้ 1.รัฐสภาประกาศให้การเจรจาสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ 2. คุ้มครองยกเว้นบังคับใช้กฎหมายกับคณะผู้แทนเจรจาสันติสุขของมารา ปาตานี และ 3. ขอให้รัฐบาลไทยยอมรับตัวตนของมารา ปาตานี โดยฝ่ายรัฐไทยต้องใช้คำว่ามารา ปาตานี แทนการเรียกว่ากลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในเอกสารทุกชิ้นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยสันติสุข แต่ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่รับข้อเรียกร้องดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง