เปิดตัวผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหม่ของไทยครั้งแรกหลัง "แจส โมบาย บรอดแบนด์" ชนะการประมูลใบอนุญาตให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ 900 MHz ในฐานะบริษัทลูกของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต 3 BB เจ้าของช่องทีวีดิจิทัล "โมโน" และเว็บไซต์ เอ็มไทย ดอท คอม (www.mthai.com) ซึ่งมี นายพิชญ์ โพธารามิก เป็นประธานกรรมการบริหาร ทายาทคนเดียวของนายอดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเคยมีชื่อติดทำเนียบเศรษฐีไทยอันดับที่ 34 ของนิตยสารฟอร์บส์ ประจำปี 2554
ค่าประมูลใบอนุญาตของแจสที่แพงกว่า 75,000 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ดูน่าเป็นห่วงสำหรับนักลงทุนและผู้บริโภคที่อาจต้องร่วมแบกภาระต้นทุนนี้หรือไม่ เพราะมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หรือมาร์เก็ต แค็ปของแจสมีประมาณ 39,000 ล้านบาท เงินสด 8,700 ล้านบาท กำไรจากการออกขายกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมสินทรัพย์ต่างๆ ของบริษัท ไม่น่าเกิน 50,000 ล้านบาท ทำให้นักวิเคราะห์ตลาดทุนแห่งหนึ่ง เชื่อว่าแจสจำเป็นต้องเดินหน้าเพิ่มทุนสถานเดียว และตลอดการเริ่มต้นในธุรกิจใหม่ บริษัทอาจเผชิญสถานะการเงินที่ค่อนข้างตึงตัวมากๆ แม้มีหุ้นส่วนจากต่างประเทศและสถาบันการเงินยอมปล่อยกู้ก็ตาม เพราะบริษัทยังต้องลงทุนด้านอื่นๆ อีกมาก เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดจากผู้ให้บริการรายเก่า โดยเฉพาะจากลูกค้าเอไอเอสที่ยังมีบางส่วนใช้บริการ 2G บนคลื่นความถี่ 900 MHz
แต่ผู้บริหารบริษัทแจส ยืนยันว่าบริษัทจะไม่เพิ่มทุน พร้อมแจกแจงแหล่งเงินทุน ทั้งกระแสเงินสดจากธุรกิจ 3BB เงินจากการกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน วอแร้นท์และเงินกู้ ตลอดจนเตรียมนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และย้่ำว่าบริษัทมีพนักงานและศูนย์บริการกว่า 350 แห่งทั่วประเทศ พร้อมให้บริการ
"ภายใน 3 ปี เราเชื่อว่าเราจะมีลูกค้าได้อย่างน้อย 5 ล้านราย ซึ่งไม่ได้ยากเกินไปจากที่เราประเมินไว้" นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวระหว่างแถลงแผนการลุยตลาดผู้ให้บริการมือถือ
ขณะที่ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ ออกรายงานวิเคราะห์ว่าบริษัทแจส อาจเสียเปรียบผู้ให้บริการรายเก่าในเรื่องเม็ดเงินและประสบการณ์ในการทำธุรกิจ แต่สามารถต่อยอดบริการจากฐานลูกค้าบรอดแบรนด์ที่มีอยู่กว่า 2 ล้านคน จึงเชื่อว่าธุรกิจโทรคมนาคมในปี 2559 จะมีการแข่งขันอย่างรุนแรงและนำเสนอแพ็กเกจราคาถูกเพื่อช่วงชิงและรักษาฐานลูกค้า พร้อมยกกรณีศึกษาในประเทศพัฒนาแล้ว และมีประชากรใกล้เคียงไทย เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ หรือ เกาหลีใต้ ล้วนมีผู้ให้บริการมือถือ 3-4 ราย แต่ผู้ให้บริการรายเล็กที่สุดของแต่ละประเทศยังสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้โดยธรรมชาติของคลื่น 900 MHz เป็นคลื่นที่มีกำลังส่งไกล ไม่ต้องลงทุนวางเสาถี่มากนัก และเป็นคลื่นที่เอไอเอสเคยถือครองและใช้สร้างเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่มากกว่าคู่แข่งมาโดยตลอด แต่การประมูลครั้งนี้ทำให้เอไอเสต้องเสียอาวุธทางธุรกิจสำคัญนี้ไปให้บริษัทน้องใหม่ในวงการโทรศัพท์มือถืออย่างแจส แต่เป็นรายเก่ารายใหญ่ในธุรกิจบรอดแบรนด์แทน