ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นายกฯ เตรียมไปญี่ปุ่นสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนญี่ปุ่น

เศรษฐกิจ
2 มี.ค. 55
01:00
38
Logo Thai PBS
นายกฯ เตรียมไปญี่ปุ่นสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนญี่ปุ่น

นายกฯ เตรียมเดินทางเยือนญี่ปุ่นเป็นทางการเป็นครั้งแรกใน วันที่ 6- 9 มี.ค.นี้ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนญี่ปุ่น และขอให้นักลงทุนญี่ปุ่นขยายการลงทุนในไทยต่อไป หลังเกิดอุทกภัยเมื่อปี 2554

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 6 -9 มีนาคมนี้ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ภาคธุรกิจ และรัฐบาลของญี่ปุ่น ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ความช่วยเหลือไทย ในช่วงที่เกิดสถานการณ์อุทกภัย เมื่อปี 2554 และชี้แจงแนวทางการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจญี่ปุ่นที่มาลงทุนในประเทศไทย เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยจนก่อให้เกิดการจ้างงาน การผลิตและทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยเติบโต

ทั้งนี้มีผลสำรวจของแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศ ในช่วงครึ่งปีแรก โดยสำรวจจากสมาชิกจำนวน 366 บริษัท ระหว่างวันที่ 16 ธ.ค.2554 -15 ม.ค. 2555 พบว่ามีบริษัทที่เห็นว่าสภาพธุรกิจจะดีขึ้นร้อยละ 64 ในขณะที่มีธุรกิจที่ตอบว่าแย่ลงร้อยละ 18 ส่วนสำรวจเกี่ยวกับสถานที่สำหรับเปิดดำเนินกิจการอีกครั้งของบริษัทที่ได้รับความเสียหายโดยตรง พบว่า ผู้ผลิตราวร้อยละ 8 ของจำนวนผู้ผลิตญี่ปุ่นทั้งหมดในประเทศไทยมีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศอื่นๆ โดยมีร้อยละ 85 ที่จะเปิดดำเนินกิจการอีกครั้งในสถานที่เดิม ส่วนที่เหลือคาดว่าจะย้ายการผลิตไปยังสถานที่อื่นๆ ภายในประเทศไทย

หากสำรวจแยกตามประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายพบว่า อุตสาหกรรมเครื่องจักร ไฟฟ้า และอิเลคทรอนิกส์ ได้รับความเสียหายมากที่สุดคิดเป็น ร้อยละ 56 รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเครื่องจักร ร้อยละ 42สำหรับการคาดการณ์เปิดดำเนินการอีกครั้งของบริษัทที่ด้รับความเสียหายทางตรง พบว่า บริษัทส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะเปิดดำเนินการได้ในเดือน ธ.ค. 54 ร้อยละ 25 และคาดว่าเปิดดำเนินการได้ในเดือนเม.ย. - พ.ค. 55 ร้อยละ 21 ส่วนร้อยละ 6 คาดว่าเปิดดำเนินการได้ในเดือน มิ.ย.55

ขณะที่ข้อเรียกร้องของบริษัทญี่ปุ่นที่มีต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับเหตุอุทกภัย ร้อยละ 83 เห็นว่ารัฐบาลควรกำหนดแผนป้องกันเพื่อรับมือน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว รองลงมาคือ ควรนำเสนอข้อมูลอย่างรวดเร็ว คิดเป็น ร้อยละ 68 และ จัดตั้งกองทุนระบบประกันภัย คิดเป็นร้อยละ 32


ข่าวที่เกี่ยวข้อง