บทละคร
พรจากกามเทพเปลี่ยนจิตรางคทา หญิงสาวผู้มีรูปร่างและฝีมือในการรบดังบุรุษเพศ ให้มีรูปโฉมงดงามเพื่อสมหวังในรักกับอรชุน ตอนหนึ่งในมหาภารตะ ที่ รพินทรนาถ ฐากูร ปราชญ์ชาวอินเดีย ดัดแปลงเป็นบทละครโดยแทรกแง่คิดความรัก ที่แม้สุดท้ายพรที่เธอได้รับจากกามเทพจะหมดไป แต่อรชุนผู้เป็นสวามี ยังคงรักในน้ำใจที่อยู่เหนือรูปกายภายนอก
โดยบทละครให้ภาพสตรีมีหน้าที่สำคัญไม่น้อยกว่าเพศชายเพื่อสะท้อนความคิดสิทธิที่เท่าเทียมกว่า 70 ปีแล้วที่ปราชญ์เจ้าของบทละครผู้ได้สมญาคุรุเทพลาลับ แต่บทละครยังคงส่งผ่านเรื่องเล่าสู่คนรุ่นหลังผ่านระบำโอริสสีจากแคว้นโอริสสา โดยรัญชนา กอเฮอร์ ศิลปินชื่อดังจากอินเดีย ผู้ร่ายรำจิตรางคทาด้วยคารวะในวาระครบรอบ 150 ปีชาตกาล รพินทรนาถ ฐากูร
ศิลปินแห่งชาติของอินเดียบอกว่า เหตุที่เลือกบทละครเรื่องนี้มาแสดง เพราะเป็นผลงานของ รพินทรนาถ ฐากูร ซึ่งสะท้อนความก้าวหน้าทางความคิดที่ต้องการพัฒนาประเทศให้พ้นจากความล้าหลังตามสายตาของอังกฤษที่ปกครองอินเดียในเวลานั้น การเพิ่มบทบาทของสตรีในละครจิตรางคทาเพื่อแสดงภาพความเท่าเทียมระหว่างหญิงชายผ่านละคร
บทละครจิตรางคทา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานมากมายที่รพินทรนาถ ฐากูร ฝากไว้เป็นขุมความคิดให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ผ่านวรรณกรรม กว่าศตวรรษที่ปรัชญาของคุรุเทพยังคงถูกถ่ายทอดไม่เพียงผ่านตัวอักษร แต่ยังโลดแล่นมีชีวิตดุจเดียวกับจิตรางคทาในระบำโอริสสี ที่ให้ความบันเทิงพร้อมไปกับส่งผ่านแนวคิดสิทธิและความเสมอภาคในวันที่อินเดียถูกมองว่าล้าหลังเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว