พล.ต.ท.เทศา ศิริวาโท ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 กล่าวว่าสถานการณ์การรวมตัวของชาวสวนยางในหลายพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้มีการรวมตัวของแกนนำในบางจังหวัด แต่สถานการณ์โดยรวมยังคงเรียบร้อย อย่างไรก็ตามช่วงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือวันที่ 12 ม.ค.2559 ซึ่งเป็นวันที่เกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้นัดรวมตัว ซึ่งหากมีการปิดถนนก็ต้องดำเนินการ โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่บันทึกภาพ ทั้งภาพนิ่งและคลิป เก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินคดี
ทั้งนี้หนึ่งในกิจกรรมของชาวสวนยางคือ การนัดรวมตัวเพื่อตรวจสอบราคายางที่ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งก่อนหน้านี้แกนนำสหพันธ์ชาวสวนยางเเห่งประเทศไทยระบุว่าไม่ใช่การนัดเพื่อชุมนุมกดดันรัฐบาล และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ใช้ความรุนแรงเพราะไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง เเต่เป็นการนัดหารือเรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกร
ขณะที่เมื่อวานนี้ (10 ม.ค.2559) เกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ประชุมเพื่อเตรียมการเคลื่อนไหวเรียกร้องราคาพาราตกต่ำที่ จ.ตรัง และได้ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ เรียกร้องแก้ไขราคายางพาราตกต่ำ ให้มีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท ข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อมีดังนี้
1.ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางอย่างเร่งด่วน
2.ให้รัฐบาลยุติการขายยางพาราในสต๊อก 3.6 แสนตัน
3.ให้การยางแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนโดยเกษตรกรมีส่วนร่วมมากที่สุด
4.เรียกร้องราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งเป็นราคาท้องถิ่นที่เกษตรกรขายได้ หากไม่ได้พร้อมจัดชุมนุมใหญ่
5.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทบทวนการทำงานของที่ปรึกษา นายอำนวย ปะติเส และผู้ช่วยรัฐมนตรี นางจินตนา ชัยวรรณการ
ขณะที่นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่าการชุมนุมต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ที่ผ่านมายืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ขอเรียกร้องให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เปิดเวทีให้กับชาวสุราษฎร์ธานี อยากให้ช่วยหาแนวทางแก้ไขราคายางร่วมกับเกษตรกรต่อไป
เมื่อวานนี้ (10 ม.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุรัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ขอเกษตรกรอย่าชุมนุมกดดันเพราะการกดดันจะไม่ช่วยแก้ปัญหา พร้อมกับยืนยันว่ารัฐบาลกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือ โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (12 ม.ค.) จะมีการเสนอตั้งคณะกรรมการบริหารการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งเมื่อแต่งตั้งบอร์ดแล้วเสร็จจะทำให้กลไกการแก้ปัญหาเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่าในการประชุมร่วมกับตัวแทนเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อยุติร่วมกันเรื่องการรับซื้อยางพาราไม่ให้ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 33-34 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2559 เป็นต้นไป แต่ไม่สามารถยกระดับราคายางไปที่กิโลกรัมละ 60 บาท ตามข้อเสนอได้ เพราะขึ้นกับสถานการณ์ตลาดโลกด้วย
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังมีคำสั่งให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องไปรวบรวมข้อมูล ความต้องการใช้ยางระยะแรกให้ได้ในวันที่ 11 ม.ค.เพื่อกำหนดปริมาณการรับซื้อยางตามความต้องการของแต่ละกระทรวง โดยใช้งบประมาณของแต่ละกระทรวงเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.อีก