ถนนเส้นราชพฤกษ์ เป็นหนึ่งในถนนหลายเส้นที่นำยางพารามาเป็นส่วนประกอบในการก่อสร้างและการซ่อมแซมผิวถนน โดยมีน้ำยางพาราร้อยละ 5 ผสมกับยางมะตอย หรือที่เรียกว่า "พาราแอสฟัลต์"
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ระบุว่า ผิวถนนที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบจะมีความแข็งแรงมากกว่า โดยปกติผิวถนนลาดยางธรรมดา 7 ปีไม่ต้องซ่อมแซม แต่หากลาดยางถนนที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบจะอยู่ที่ประมาณ 9 ปี ขณะเดียวกันการผสมยางพาราเข้าไปกับการทำพื้นถนนประมาณสัดส่วนร้อยละ 5 จะทำให้มีความยืดหยุ่นและทนทานมากที่สุด แต่หากใช้ส่วนผสมยางพารามากกว่านี้ก็จะทำให้ความทนทานของพื้นถนนลดลง
นายชัยวัฒน์ ศรีวรรณวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นภาคเอกชนผู้ผลิตยางมะตอย ยืนยันว่า เอกชนทุกรายมีความพร้อมรับซื้อน้ำยางข้นตามที่รัฐบาลกำหนดที่กิโลกรัมละ 45 บาท ปัจจุบันราคายางมะตอยอยู่ที่กิโลกรัมละไม่เกิน 10 บาท แต่หากนำยางพารามาใช้เป็นส่วนประกอบทำถนนจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว
ขณะที่ในระยะยาว ภาคเอกชนจะร่วมมือกับรัฐบาลศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในงานก่อสร้างถนน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 7.5 ถึงร้อยละ 10 และจะหาแนวทางการใช้ยางพาราเพิ่มเติมในยางมะตอยชนิดอื่น เพื่อเพิ่มมูลค่าของยางพาราในตลาดให้สูงขึ้น
สำหรับแผนการใช้ยางพาราเพื่อสร้างถนนของกระทรวงคมนาคมในปี 2558 ใช้ก่อสร้างถนนกว่า 9,500 ตัน ส่วนปี 2559 ได้วางแผนจะใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นเป็น 19,301 ตัน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 34.9 ล้านตารางเมตร ใช้วงเงินประมาณ 14 ล้านบาท โดยเป็นของกรมทางหลวงมากที่สุด 9,000 ล้านบาทและกรมทางหลวงชนบทเกือบ 5,000 ล้านบาทและในปี 2560 กระทรวงคมนาคมได้วางแผนไว้ว่าจะนำยางพารามาก่อสร้างและซ่อมแซมถนนทุกสายจากถนนลาดยางธรรมดาเป็นพาราแอสฟัลต์