ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชี้อนาคต "ไทยพีบีเอส" เสี่ยงถูกรื้อ-ตรวจสอบแบบ สสส.

สังคม
19 ม.ค. 59
20:35
682
Logo Thai PBS
ชี้อนาคต "ไทยพีบีเอส" เสี่ยงถูกรื้อ-ตรวจสอบแบบ สสส.
วงเสวนาทบทวนภารกิจทีวีสาธารณะชี้ไทยพีบีเอสภายใต้ "หมอกฤษดา" มีโอกาสถูกตรวจสอบหากใช้วิธีการทำงานแบบ สสส. และพ.ร.บ.ไทยพีบีเอสอาจถูกแก้ไข ยอมรับสื่อในยุคคสช.ทำงานยาก

วันนี้ (19 ม.ค.2559) เวลา 14.00 น.ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่ากลุ่ม Media Inside Out ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานวิชาชีพสื่อที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบและรู้เท่าทันการทำงานของสื่อได้จัดเวทีมีเดียคาเฟ่-สื่อสนทนา หัวข้อ "สู่อนาคตทศวรรษใหม่ของไทยพีบีเอส...ทบทวนภาระกิจทีวีสาธารณะ" มีผู้ร่วมสนทนา คือ นายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีต ผอ.ไทยพีบีเอส นายอธึกกิต แสวงสุข หรือ "ใบตองแห้ง" คอลัมน์นิสต์และผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี นายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ดำเนินเสวนาโดย รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อ

วงเสวนาเริ่มจากการพูดถึงภารกิจของไทยพีบีเอสโดยนายสมชัยกล่าวว่า ภารกิจของทีวีสาธารณะจะต้องเป็นสื่อที่มีบทบาทในสังคม ที่ผ่านมาไทยพีบีเอสยังไม่ถึงจุดนั้น ซึ่งตนได้พยายามผลักดัน แต่หากมองในแง่ของการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล ไทยพีบีเอสมีบทบาทสำคัญในการช่วยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปลี่ยนผ่านเพราะไทยพีบีเอสมีจุดแข็งในด้านวิศวกรรม ระบบโครงข่ายสัญญาณ ขณะเดียวกัน ไทยพีบีเอสก็ทำในส่วนการปฏิรูปสื่อ คือ ให้ภาคพลเมืองมีส่วนร่วมในการผลิตสื่อ ซึ่งจุดนี้จะทำให้ประชาชนมีพลังในการต่อรองกับอำนาจรัฐได้

นายสมชัยเสนอว่า สิ่งที่ไทยพีบีเอสต้องทำต่อไปคือ การสร้างคุณค่าของสื่อสาธารณะให้มีความน่าเชื่อถือ ตอบวัตถุประสงค์ขององค์กรมากกว่าจะมองเรื่องปริมาณผู้ชม (rating) เป็นหลัก และมองว่าปัจจัยที่ทำให้ไทยพีบีเอสอยู่ได้คือคณะกรรมการนโยบายและผู้บริหารที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสื่อ

อดีตผอ.ไทยพีบีเอสแสดงความเห็นต่อผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารไทยพีบีเอสด้วยว่า ควรเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับไทยพีบีเอสหรือเป็น "ลูกหม้อ" ไทยพีบีเอส รวมทั้งเป็นคนที่มี "ดีเอ็นเอสื่อสาธารณะ" ไม่ใช่คัดเลือกให้คนนอกเข้ามาบริหาร

"ผู้บริหารต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสื่อ โดยเฉพาะหลักการด้านวารสารศาสตร์ ไม่ใช่ความรู้ในอุตสาหกรรมสื่อบางอย่าง ต้องมีทักษะในเชิงบรรณาธิการที่สามารถตัดสินใจในช่วงเวลายากลำบาก เช่น กรณีที่ไทยพีบีเอสออกอากาศในวันรัฐประหาร" นายสมชัยระบุโดยอ้างถึงเหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค.2557 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นทำรัฐประหาร ซึ่งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้ออกอากาศรายงานสถานการณ์ในทุกช่องทาง เมื่อการออกอากาศทางโทรทัศน์ถูกควบคุม ก็ได้เปลี่ยนมารายงานสดทางออนไลน์ผ่านช่องยูทูปจนกระทั่งถูกทหารมาสั่งให้ยุติ

ด้านนายอธึกกิต แสวงสุข หรือ "ใบตองแห้ง" คอลัมน์นิสต์มองว่า ปัญหาของไทยพีบีเอสคือความเป็นองค์กรสื่อแต่กลับใช้โครงสร้างแบบภาคประชาสังคม บริหารงาน "สไตล์เอ็นจีโอ" มีวิธีการทำงานโดยการนำคนเครือข่ายมาอยู่ในองค์กรเดียวกัน ซึ่งส่งผลต่อพื้นที่และวิธีคิดในการทำสื่อของไทยพีบีเอส

ส่วนการแต่งตั้งนายกฤษดา เรืองอารีรัชต์ อดีตผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็น ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2559 แทนนายสมชัยที่คณะกรรมการนโยบายมีมติเลิกจ้างเมื่อเดือนตุลาคม 2558 นั้น นายอธึกกิตมองว่าหากนายกฤษฎาใช้วิธีการบริหารงานแบบเดียวกับที่ สสส.มาใช้ในการบริหารไทยพีบีเอส อาจทำถูกตรวจสอบเช่นเดียวกับที่ สสส.กำลังถูกตรวจสอบ

ขณะนี้ สสส.กำลังถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และเมื่อวันที่ 5 ม.ค.2559 พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.ก็มีคำสั่งปลดบอร์ดสสส.7 คนที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ

"ไทยพีบีเอสมีความเป็นระบบราชการและการทำงานแบบเครือข่ายอยู่แล้ว หากหมอกฤษดาเข้ามาแล้วใช้วิธีแบบสสส.เข้ามาอีก แบบนี้ไทยพีบีเอสแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้ ผมว่าปี 2560 จะมีกระแสล้มเยอะ เพราะตอนนี้คนรู้สึกว่าไทยพีบีเอสคล้ายยุคสสส. ถ้าเป็นแบบนี้อาจมีกระแสให้รื้อ" นายอธึกกิตกล่าว

นายอธึกกิตกล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาจากบริบททางการเมืองในขณะนี้ ไทยพีบีเอสอาจถูกตรวจสอบเช่นเดียวกับ สสส.เพราะรัฐราชการคิดว่ารัฐควรเป็นผู้จัดการอำนาจหมด ไม่แบ่งให้ประชาสังคม และคิดว่าจะจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งหากมองในมุมสื่อก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะจะทำให้ไม่มีเวทีในพื้นที่สื่อเมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

นายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เล่าประสบการณ์จากการที่ตนอยู่ในคณะกรรมการสรรหากรรมการนโยบายไทยพีบีเอสมา 3 สมัย ว่า กระบวนการคัดเลือกยังบกพร่อง ผู้ที่เข้ามาสมัครส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจสื่อสาธารณะ กระบวนการสรรหาที่ทำเบ็ดเสร็จในครั้งเดียว ทำให้บางคนกรรมการเลือกเข้ามายังมีคุณสมบัติไม่ถึงขั้นเป็นกรรมการนโยบายได้

นายจักรกฤษณ์กล่าวว่า การเมืองพยายามเข้ามาปรับไทยพีบีเอสหลายยุค อีกทั้งขณะนี้มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจหัวหน้าคสช.ในการสั่งการหรือกระทำการใดๆ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ทำให้ไทยพีบีเอสมีโอกาสเจอชะตากรรมเดียวกับสสส.คือการถูกตรวจสอบ

นายจักรกฤษณ์กลให้จับตาการทบทวน พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 หรือที่เรียกกันว่า "พ.ร.บ.ไทยพีบีเอส" ในปี 2560 ภายใต้บรรยากาศที่ไม่เปิดให้ถกเถียง

"บริบทสังคมตอนนี้ หวังไม่ได้กับสื่อ แม้แต่กับไทยพีบีเอส ในภาพใหญ่ความหวังต่อไทยพีบีเอสยังอยู่ได้ แต่ข้างในต้องเป็นปึกแผ่น ท้าทายอำนาจ" นายจักรกฤษณ์กล่าว

ในตอนท้ายของการเสวนา กลุ่ม Media Inside Out ในฐานะผู้จัดงานได้ให้ข้อมูลว่าผู้จัดได้เชิญนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสหรือผู้แทนมาร่วมเสวนาด้วย แต่ได้รับการปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า หากยังไม่มีการลงนามแต่งตั้ง ผอ.ไทยพีบีเอส คนใหม่จะไม่มีการออกความเห็นในเรื่องนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง