วันนี้ (27 ม.ค.2559) ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์การเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยเปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index-CPI)ประจำปี 2558 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ไทยได้คะแนน 38 คะแนนเท่ากับการจัดอันดับในปี 2557 ซึ่งมีการจัดอันดับทั้งหมด 175 ประเทศ ไทยอยู่อันดับที่ 85
เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยมีคะแนนเป็นอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ (อันดับ 8 ของโลก 85 คะแนน) และมาเลเซีย (อันดับ 57 ของโลก 50 คะแนน) ส่วนบรูไนไม่ได้อยู่ในการจัดอันดับ
ในการจัดอันดับครั้งนี้ ประเทศเดนมาร์กได้คะแนนสูงสุด คือ 91 คะแนน รักษาแชมป์ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ขณะที่ประเทศที่ได้คะแนนลดลงจากเดิมกว่าปีที่แล้วอย่างมาก ได้แก่ บราซิล กัวเตมาลา และเลโซโธ
"การจัดอันดับคอร์รัปชั่นเป็นวิธีการกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจปัญหาทุจริตคอร์รัปชันว่าเป็นปัญหาร่วมกันของคนทั้งโลก ไม่ใช่ปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาหรือของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น" ดร.จุรีกล่าวพร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าสังคมไทยมีความตื่นตัวต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างมาก
"แม้แต่ในรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ก็มีกลไกพิเศษหลายอย่างที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันโดยเฉพาะ" ดร.จุรีกล่าว
CPI คือ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีคะแนนตั้งแต่ 0 (คอร์รัปชั่นมากที่สุด ถึง 100 (คอร์รัปชั่นน้อยที่สุด) การจัดอันดับนี้จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติซึ่งเป็นองค์กรอิสระนานาชาติที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน มีเครือข่าย 120 ประเทศทั่วโลก