มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทพ.กฤษดา ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารสื่อที่ใดมาก่อนเลย ทำไมถึงมาเป็น ผอ. ส.ส.ท.ได้ และจะบริหารองค์กรนี้อย่างไร
กฤษดา: ผมต้องเรียนแบบนี้ก่อนเลยนะว่า ไม่มีผู้บริหารคนไหนที่เคยบริหารสื่อสาธารณะในประเทศไทยมาก่อน แล้วถามว่าเราจะเลือกคนแบบไหนมาบริหารสื่อสาธารณะ สื่อสาธารณะต่างจากสื่อการค้ามหาศาลทั้งวิธีคิด วิธีทำงาน วิธีการวัดผล วิธีทำให้สำเร็จ ผมคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ผู้สมัครผู้อำนวยการ ส.ส.ท.แต่ละคนมีจุดดีและจุดแข็งต่างกัน บางคนเคยทำโทรทัศน์มา อย่างของผม ผมทำด้านของการสื่อสาร ทาง Social Marketing หรือสื่อสารการตลาด เราเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทย เรื่องของการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เราเปลี่ยนพฤติกรรมของการให้ของขวัญปีใหม่ เช่น การรณรงค์เรื่อง "ให้เหล้าเท่ากับแช่ง" เราทำเยอะมาก
คำถามก็คือ ใครตีโจทย์ทีวีสาธารณะได้ดีกว่ากัน ผมมองว่าทีวีสาธารณะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างคุณค่าให้สังคมได้ มันไม่ใช่ทีวีที่จะเน้นเรื่องของจำนวนผู้ชม (เรทติ้ง) อย่างเดียว แต่ว่าต้องมีคุณค่าที่จับต้องได้ และประชาชนยอมรับ เหมือนกับในหลายๆ ประเทศที่เราไปดูตัวอย่างมา เช่น ประเทศอังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย ที่สื่อสาธารณะเป็นกลไกสำคัญมาก มีผลต่อความคิดและมีผลต่อสื่อด้วยกันเอง เพราะสื่อสาธารณะไม่จำเป็นต้องคิดถึงเรื่องการค้าเป็นหลัก แต่มุ่งเรื่องประโยชน์ของประชาชน ผู้บริหารทุกคนที่สมัครเข้ามาล้วนมีความสามารถ แต่ใครจะเหมาะกับทีวีสาธารณะมากกว่า ผมคิดว่ากรรมการนโยบาย ส.ส.ท.มีโอกาสได้ทดลองผู้บริหารมาหลายท่าน ตอนนี้ท่านก็อาจจะอยากทดลองวิธีคิดของการสื่อสารแบบใหม่ ซึ่งผมมีจุดแข็งประการหนึ่งคือทำงานด้านสังคมมามากกว่า 14 ปี รู้ประเด็นทั้งเรื่องผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ความขัดแย้งทางความคิด
การสื่อสารเพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ ผอ.ได้ยกตัวอย่าง เช่น การรณรงค์"ให้เหล้าเท่ากับแช่ง" หรือ "เมาไม่ขับ" นั้น สิ่งที่คนรับรู้ก็คือ สสส.เป็นผู้ที่ออกทุนให้ ไม่ได้ทำเอง
กฤษดา: ตรงนี้อาจจะเข้าใจผิด ปัจจุบัน สสส.มีเอเจนซี่ที่เข้ามาทำงานกับเรามากกว่า 10 บริษัท แต่สิ่งที่สื่อสารออกมาจะมี theme ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นแสดงว่า สสส.เป็นผู้คุมกระบวนการจัดการหรือยุทธศาสตร์ในการสื่อสารอย่างเป็นระบบ หลายหน่วยงานก็ใช้เอเจนซี่โฆษณาเหมือนกัน แต่ทำไมคนถึงเห็นสื่อของ สสส. มากกว่าที่อื่น สสส.ได้รับการจัดอันดับให้เป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมอันดับ 1 มา 3 ปีซ้อน
ในการรณรงค์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เรามีทีมงาน เริ่มจากการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น การรณรงค์ "ให้เหล้าเท่ากับแช่ง" เรารู้เลยว่าต้นทุนของเหล้าที่อยู่ในกระเช้าของขวัญมันแพงมหาศาล แต่เขาไม่มีเหตุผลที่จะไม่ให้ ขณะที่คนรับจำนวนมาก รับมา แต่ไม่ได้กิน แล้วไปให้คนอื่น แต่เขาไม่มีเหตุผลที่จะไม่รับ พอเราพบว่ามีเหตุผลที่คนให้ของขวัญจะบอกกับคนอื่นได้ว่า ฉันไม่อยากจะให้เหล้า มันก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเลย
ไทยพีบีเอสจะเต็มไปด้วยเนื้อหา รายการ หรือแม้กระทั่งข่าวที่เต็มไปด้วยการรณรงค์ทำนองนี้หรือเปล่า
กฤษดา: คงไม่เป็น เพราะลักษณะของ สสส.กับไทยพีบีเอสแตกต่างกันเยอะ ผมคิดว่าไทยพีบีเอสมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ผมมองว่ารูปแบบรายการของไทยพีบีเอสจะต้องตอบโจทย์เรื่องการเปลี่ยนแปลงให้ได้ จะต้องเป็นสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง ถามว่าสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงคืออะไร ผมว่าต้องตีความให้ชัด สถานการณ์ตอนนี้ประเทศไทยเจอปัญหา อุปสรรคมากมาย เราติดกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เหตุผลสำคัญคือคุณภาพของคน เราพูดถึงระบบการศึกษาที่มีปัญหา เราพูดถึงสภาวะทางสังคมที่มีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เราจะจัดการปัญหานี้อย่างไร เรามีวัฒนธรรมจากภายนอกหลั่งไหลเข้ามาเยอะ ไทยพีบีเอสต้องติดอาวุธทางความคิดให้คนไทยให้ได้ เราต้องทำการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องเปลี่ยนทั้งระดับคนและระดับสังคม
ผอ.นิยามบทบาทของสื่อในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไร
กฤษดา: ผมคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงใน 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือการเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล เราเชื่อว่าถ้าทำการสื่อสารอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เฉพาะบนหน้าจอทีวี เพราะ ส.ส.ท.ไม่ได้ทำเฉพาะหน้าจอทีวีอย่างแน่นอนแต่เราต้องสื่อสารแบบครบวงจร เราจะต้องจุดประกายความคิดของคนและนำเขาไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ส่วนที่ 2 เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคม เราต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบให้ได้ เช่น ปัญหาของระบบการศึกษา ซึ่งผมคิดว่าอุปสรรคใหญ่อยู่ที่วิธีคิดของพ่อแม่ที่ยังมีความเชื่อว่า ความสำเร็จของลูกๆ คือใบปริญญา ประเทศที่เจริญแล้วหลายๆ ประเทศ จำนวนคนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยไม่ได้มากมายขนาดนี้ คนจำนวนไม่น้อยเลือกพัฒนาวิชาชีพและฝีมือของตัวเองขึ้นมา ซึ่งเราต้องสื่อสารเรื่องเหล่านี้ให้สังคมเข้าใจว่าระบบการศึกษาปัจจุบันจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร และเราจะนำคนเหล่านี้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้อย่างไร จริงๆ มีคนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงเต็มไปหมด เราก็จะสร้างให้เกิดวงจรของการเปลี่ยนแปลงให้ได้
ไทยพีบีเอสถูกมองว่าเป็นทีวี "เอ็นจีโอ" มานานแล้ว ภาพของ ผอ.ที่มาจาก สสส.ก็อาจถูกมองว่าเป็นเอ็นจีโอ ผอ.จะอธิบายคนที่วิจารณ์เรื่องนี้อย่างไร
กฤษดา: ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือ ส.ส.ท.ต้องทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น เราต้องวิเคราะห์ว่าปัญหาของสังคมไทยมีอะไรบ้าง แล้วก็กล้าแตะมัน จริงๆ เรื่องเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันนักธุรกิจจำนวนมากเริ่มเปลี่ยนวิธีความคิดแล้ว เขาเริ่มมองว่าคนที่ทำธุรกิจมันแยกจากสังคมไม่ได้ เราเห็นเรื่องของการทำ CSR (Coporate Social Responsibility--ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ) เราสามารถที่จะร้อยเรียงเรื่องเหล่านี้ได้ ประเด็นที่ควิจารณ์ว่าเราเป็นเอ็นจีโออาจจะเป็นเพราะว่าเขารู้สึกว่าเราไปวิพากษ์วิธีคิดของเขา ผมคิดว่าตรงนี้เราต้องทำงานกับทุกกลุ่ม ผมเชื่อว่าทีวีสาธารณะต้องเข้าถึงมวลชนขนาดใหญ่ได้
พอพูดถึงมวลชนขนาดใหญ่ ในภาษาอุตสาหกรรมโทรทัศน์ก็จะนึกถึงจำนวนผู้ชมหรือเรทติ้ง คำถามก็คือภารกิจของไทยพีบีเอสในการเปลี่ยนแปลงสังคมจะสวนทางกับเรทติ้งหรือไม่
กฤษดา: ในเบื้องต้นไทยพีบีเอสจะต้องปรับเรื่องของภาพรวมด้านการสื่อสารของไทยพีบีเอสใหม่หมด ต้องคิดเรื่องการจัดน้ำหนักของเรื่องต่างๆ เสียใหม่และต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประเด็นที่จะสื่อสาร ชัดในเรื่องของกลุ่มเป้าหมาย ผมอยากเห็นไทยพีบีเอสมีการวางยุทธศาสตร์ในการสื่อสาร ตอนนี้เรารู้สึกว่าไทยพีบีเอสมีเรื่องดีๆ เยอะมากเลย แต่ว่ากระจัดกระจายอยู่เป็นส่วนๆ ไม่มีจุดโฟกัสที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นโจทย์แรกที่เราต้องคิด
ผอ.จะเพิ่มความนิยมของคนดูอย่างไร เพราะที่ผ่านมาคนวิจารณ์ว่าไม่ค่อยมีคนดู ตั้งมา 8 ปีแล้วแต่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก
กฤษดา: เรื่องเรทติ้งไม่ใช่เรื่องสำคัญอันดับ 1 ของไทยพีบีเอส การทำเรทติ้งให้เป็นอันดับ 1 ไม่ใช่เป้าหมาย เป้าหมายของไทยพีบีเอสคือการทำให้สังคมไทยดีขึ้น อันนี้ชัดเจน เขียนไว้ในพระราชบัญญัติชัดเจน เมื่อเป็นเช่นนี้ เราคงไม่สามารถไปเทียบกับช่องทีวีที่มีเรทติ้งได้ ถ้าอยากมีเรทติ้งสูงก็ต้องทำละครแบบที่เรียกกันว่า "ตบ-จูบ" เยอะๆ หรือถ่ายทอดฟุตบอล ถ่ายทอดกีฬา ซึ่งทีวีช่องที่เป็นการค้าเขาทำอยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของไทยพีบีเอส แต่หน้าที่ของเราคือสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าต่อสังคม ต้องคิดว่ามีประเด็นอะไรที่จะต้องนำเสนอ คนกลุ่มไหนที่เราต้องการสื่อสารด้วย ผมเชื่อว่าถ้าไทยพีบีเอสค้นพบตรงนี้ได้จริง ทำเนื้อหาที่มีคุณค่ากับคนได้จริง ก็จะทำให้มีคนชมและเรทติ้งก็จะเพิ่มขึ้นตามมา ผมเชื่อตรงนี้นะ เราคงไม่สามารถขึ้นไปแตะข้างบนได้ แต่เราน่าจะเป็นช่องทีวีที่มีสาระที่สุดได้
ในช่วงต้น ผอ.พูดถึงการสื่อสารการตลาด (Social Marketing) ช่วยอธิบายว่าการตลาดกับทีวีสาธารณะจะไปด้วยกันได้อย่างไร
กฤษดา: ตอนนี้ไทยพีบีเอสมีหลายรายการที่มีคนเข้ามาดูย้อนหลังในสื่อออนไลน์เป็นหลักล้านเลยซึ่งเยอะมากนะ แต่ตอนที่อยู่หน้าจอ คนไม่รู้ว่ากำลังออกอากาศในเวลานั้น ปัจจุบันพฤติกรรมการดูทีวีไม่ได้เริ่มจากทีวีแล้ว มันเริ่มจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เราไม่จำเป็นต้องเริ่มจากทีวีอย่างเดียว และเราก็สามารถที่จะออกแบบกระบวนการสื่อสารแบบใหม่ที่สามารถที่จะทำให้มันเป็นเนื้อเดียวกัน ที่ทำให้คนเข้ามาดูได้ เพราะฉะนั้นการตลาดเป็นเรื่องที่สำคัญมากเลย เราไม่ได้หมายความว่าเราจะไปทำการตลาดแบบเอกชน เช่น ถ้าไทยพีบีเอสมีเรื่องที่ดีมากๆ เราก็สามารถทำให้มันเป็น "talk of the town" หรือเรื่องที่คนพูดถึงเยอะๆ ได้ แล้วจึงดึงให้คนมาดูที่หน้าจอทีวี ผมว่ามันคือการตลาดแบบไทยพีบีเอสที่เรียกว่า Social Marketing ซึ่งการตลาดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องใช้เงินเยอะแยะ แต่ว่าสิ่งที่สำคัญคือใช้ประเด็นและวิธีการสื่อสาร แต่เราต้องมองข้าม platform ให้ได้
เนื่องจากว่า ผอ. เคยเป็นผู้บริหารของ สสส.ซึ่งกำลังถูกตรวจสอบหลายเรื่อง มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการที่อดีตผู้จัดการ สสส. มาเป็นผอ.ไทยพีบีเอสจะเป็นสายล่อฟ้าให้ถูกเพ่งเล็งจากผู้มีอำนาจ
กฤษดา: ผมเรียนว่าต่างคนต่างความคิด บางคนก็บอกว่าการที่ผมมีประสบการณ์จาก สสส. น่าจะเป็นประโยชน์ เราก็จะรู้ว่าน้ำหนักแค่ไหนถึงจะพอเหมาะ ต้องจัดการกับความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองอย่างไรถึงจะเหมาะสม อันที่จริง สสส. ถูกเรื่องของปัจจัยทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องดูแลเรื่องนี้ให้พอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาผมว่าเราทำได้ดี 14 ปีที่ผ่านมาเราทำได้ดีมาก
การทำหน้าที่ของไทยพีบีเอสอาจไปกระทบกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มทุนหรือผู้มีอำนาจ ผอ.จะทำอย่างไรให้ทุกคนเห็นว่าไทยพีบีเอสอยู่ตรงกลางจริงๆ
กฤษดา: ไทยพีบีเอสต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ผมว่านี่คือหัวใจ
แต่คนมักจะมอง "ประโยชน์ของประชาชน" ต่างกัน
กฤษดา: สุดท้ายประชาชนเป็นคนตัดสิน สิ่งสำคัญที่สุดคือ มองประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้งและก็ทำ และเราต้องเป็นกลางจริงๆ ผมมองว่าไม่ใช่ว่าเราแตะการเมืองเลยไม่ได้ เราแตะได้แต่ต้องแตะอย่างมีเหตุมีผล หลายครั้งเราเห็นแค่การเอาคนที่มีมุมมองความคิดต่างกัน 2 ขั้วมานั่งเถียงกัน ซึ่งต้องถามว่า เอามาเถียงกันแล้วได้อะไร ได้ยอดผู้ชมหรือได้ให้คุณค่ากับสังคม ผมคิดว่านี่คือจุดที่แตกต่างเลย เราสามารถติดอาวุธทางปัญญาให้คนอื่นได้ โดยที่ไม่ต้องใช้รูปแบบเดียวกับทีวีเอกชน และเราทำให้สนุกและน่าสนใจได้ ผมคิดว่าคนจำนวนมากในสังคมเขาก็เบื่อนะ เบื่อกับวิธีคิด วิธีการจัดวาง วิธีการเล่าข่าวที่เน้นแต่ดราม่าให้คนรู้สึกเยอะ มีคนจำนวนมากที่ต้องการสาระจริงๆ ปัจจุบันวงการโฆษณาเขาก็พูดชัดว่า โฆษณามันไม่ได้ผลแบบเดิมแล้ว ปัจจุบันเขาเชื่อกันจากการที่คนบอกต่อกัน วิธีการมันเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว วิธีการสื่อสารมันเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว เรากำลังพูดถึงระบบใหม่ที่ไม่ได้เริ่มจากทีวี ประเทศไทยเพิ่งจัดประมูล 4G ไป อนาคตเนื้อหาจำนวนมากจะถูกส่งไปถึงผู้บริโภคทางโทรศัพท์มือถือ ถามว่าเขาจะเปิดทีวีมั้ย ผมว่าต้องมองให้ขาดเลย เพราะจะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งใหญ่ที่เราต้องกล้าคิดต่าง
ส.ส.ท.โชคดีมากตรงที่เรามีฐานของคนที่อยากทำสิ่งดีๆ ให้กับสัมคม ผมสัมผัสได้ตั้งแต่วันแรก พนักงานที่นี่ตั้งใจทำงานกันทุกคน เรามีอุดมการณ์ เรายึดประโยชน์ของประชาชนหรือสาธารณะเป็นที่ตั้ง ผมเชื่อว่าสิ่งนี้แหละครับที่จะทำให้ ส.ส.ท.มีคุณค่าต่อสังคม และประชาชนจะเชื่อมั่น ต่อไปนี้คนจะดูทีวีช่องไหนเพราะความเชื่อ ตอนนี้เรามีทีวี 20 กว่าช่อง ข่าวเหมือนกันหมดเลย แต่ถามว่าเขาเชื่อช่องไหน เขาเลือกใคร ผมคิดว่าเนื้อหาของไทยพีบีเอสไม่ต้องอยู่บนตลาดที่มีการแข่งขัน เราต้องใช้โอกาสนี้ในการสร้างคุณค่าและเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคให้ได้
แม้ว่าคนของไทยพีบีเอสจะเห็นตรงกันว่าเราจะไม่มุ่งที่เรทติ้ง แต่คนในสังคมมักจะมองตรงกันข้ามและวิจารณ์ว่าทำทีวีภาษาอะไร ทำไมไม่มีคนดู
กฤษดา: ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องแก้ปัญหาโดยทำให้เป้าหมายของทีวีสาธารณะหรือทีวีเพื่อประชาชนชัดเจน ทุกรายการที่ออกอากาศ ผู้ผลิตเนื้อหาต้องตอบคำถามว่า เกิดประโยชน์อะไรกับประชาชน ต้องถามเลยนะครับ ไม่ใช่ถามแค่ว่า มันดูดีมั้ยเรทติ้งจะดีมั้ย ผมว่าไม่ใช่ เราต้องกล้าถามอย่างชัดเจน แล้วปัจจุบันภาษาทางการตลาด สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต้องสร้างความแตกต่าง ถ้าเรามีความแตกต่างตรงนี้ ก็จะทำให้ ส.ส.ท.มีความโดดเด่น ถ้าเรามีความโดดเด่นและความจริงใจ ประชาชนก็จะเชื่อมั่นและสัมผัสได้ คุณจะแต่งให้หรูหรามีสีสันอะไรเขาก็ไม่สนใจ
ถ้าไทยพีบีเอสบรรลุวัตถุประสงค์ทุกอย่างที่ ผอ.ตั้งเอาไว้ แต่เรทติ้ง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ได้รับการยอมรับต่ำลง จะทำอย่างไร
กฤษดา: คงไม่ได้ครับ ผมเชื่อมั่นนะครับว่าเนื้อหาที่ดีคือหัวใจที่จะทำให้ช่องนี้เป็นที่นิยม และเป็นสิ่งที่จะทำให้เราแตกต่างจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ผมเชื่อว่าเราจะทำเนื้อหาที่ทันใจ โดนใจ ลึก และมากกว่าที่อื่นได้เพราะเราไม่ใช่ทีวีเพื่อการค้า เราไม่ต้องเกรงใจ เราทำได้ดีกว่าคนอื่นแน่ๆ ถ้าทำตรงนี้แล้วจะมีคนชมและมีคนชมจำนวนมากด้วยนะครับ ผมเชื่อมั่นตรงนี้ ปัจจุบันทางการตลาดทุกผลิตภัณฑ์เขาไม่ได้มาทำโฆษณาแบบเดิมกันหมดแล้วนะครับ แต่สิ่งที่เขาทำคือสื่อสารสาระหรือเนื้อหาการตลาด คือหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของการสื่อสารครั้งใหญ่ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เดี๋ยวนี้เราจะไม่ได้เห็นการสื่อสารแบบเดิมหรือโฆษณาชวนเชื่อแล้ว แต่เป็นเนื้อหาที่แท้จริง ใครจะทำตรงนี้ได้ดีกว่าและผมเชื่อว่าไทยพีบเอสมีโอกาสทำตรงนี้ได้ดีกว่า
ใช้เวลาสักเท่าไหร่จึงจะเห็นสิ่งที่ ผอ. ตั้งใจไว้ที่พูดมาทั้งหมด
กฤษดา: ผมอยากเห็นข้อมูลรายละเอียดของตัวรายการทั้งหมด รวมทั้งฐานผู้ชม และต้องมีทีมมาวิเคราะห์ตรงนี้ให้ชัดเจนว่าแต่ละอันตอบโจทย์อย่างไร สร้างฐานผู้ชมได้เท่าไหร่ เมื่อเห็นข้อมูลแล้วเราต้องคิดและวางยุทธศาสตร์เพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภค คนดูและเป้าหมายอย่างชัดเจน ตรงนี้จะบอกได้เลยว่าถ้าปรับแล้วเรทติ้งอยู่ประมาณไหนที่จะเป็นไปได้ เราคงไม่ได้หมายถึงว่าปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ ให้เหมือนกับทีวีช่องอื่น เรากำลังพูดถึงทีวีสาธารณะที่เน้นคุณค่า เพราะฉะนั้นวิธีการทำงานทุกอย่างเปลี่ยนได้ เปลี่ยนและก็เน้นไปที่คุณค่านั้นจริงๆ และตรงนี้ผมเชื่อว่า สัมผัสได้ ถ้าเราคำนวณอย่างเป็นวิชาการ เราต้องบอกเลยครับว่าสำหรับกลุ่มเป้าหมายนี้เราจะทำอะไรและเราคาดหวังผู้ชมเท่าไหร่ และเดี๋ยวนี้การวัดเรทติ้งไม่ได้วัดจากหน้าจอแล้วนะครับ เขารวมออนไลน์ด้วยทุกอย่าง รวมได้หมดเลย
ถ้าเราทำแบบนี้ภายในหนึ่งปี เราจะรู้แล้วว่าเราจะเป็นอย่างไร และอีกภายใน 2-3 ปี ผมอยากเห็นไทยพีบีเอสเป็นสื่ออันดับต้นๆ หรืออันดับ 1 ในสื่อของด้านที่มีสาระ อันนี้ต้องทำให้ได้ครับ
ประเด็นหนึ่งที่คนเป็นห่วงในสื่อสาธารณะคือการถูกแทรกแซงจากการเมืองหรือธุรกิจ แม้กระทั่งในช่วงสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอสก็มีการวิจารณ์ว่าเป็นคนของคนโน้นคนนี้ส่งมา ผอ.มีวิธีทำอย่างไรไม่ให้ถูกแทรกแซง
กฤษดา: ผมไม่มีคนส่งมานะ ผมเรียนแบบนี้นะครับ คนที่จะดูแลสื่อสาธารณะได้ดีที่สุดก็คือประชาชน ถามว่าเราสร้างคุณค่าได้มากน้อยแค่ไหน ประชาชนสัมผัสได้ ถ้าไทยพีบีเอสสร้างผลงานได้ดี เกิดความเปลี่ยนแปลงจริง ผมเชื่อว่าคนจะเห็นประโยชน์ของทีวีสาธารณะ เหมือนในประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษซึ่งทีวีสาธารณะของเขาอยู่มา 80 ปี ในประเทศอื่นอยู่มี 60-70 ปี ยาวนานทั้งนั้นเลย สิ่งที่ต้องดำรงคงไว้คือประโยชน์ของสังคมให้ได้ ผมคิดว่าอันนี้คือหัวใจ
ผอ.คิดว่าอะไรคือสิ่งที่จะทำให้ทีวีสาธารณะเป็นไปอย่างที่สังคมคาดหวัง
กฤษดา: ผมคิดว่าที่ผ่านมา ส.ส.ท.ก็มีผลงานไม่ใช่น้อย ส.ส.ท. ต้องรวบรวมผลงานเข้ามาอย่างเป็นระบบ และก็เราอาจจะมีทีมวิชาการที่จะมาทำให้เห็นตรงนี้และนำผลงานเหล่านี้ออกไปหาประชาชน ไปพูดคุยให้เขาได้เห็น ให้เขาวิพากษ์วิจารณ์ และเราพร้อมที่จะมาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง และในช่วงก่อนที่เราจะต้องถูกประเมิน ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องรวมใจของคนในองค์กรแล้วสร้างสรรค์ผลงานที่ดีที่สุด
สิ่งที่ผมจะทำต่อไปก็คือ ทำให้ทุกคนเข้ามามีส่วนรวมและสร้างสรรค์สิ่งที่มุ่งประโยชน์ของประชาชน ทุกคนจะแสดงความสามารถได้อย่างไม่มีขีดจำกัดที่ทีวีทางด้านธุรกิจทำไม่ได้ อันนี้คือสิ่งที่ต้องทำ
ถ้าเกิดมีเหตุให้งบประมาณสนับสนุนไทยพีบีเอสหายไป จะรับมืออย่างไร
กฤษดา: ส่วนที่หนึ่งเราต้องรีบทำผลงานให้เยอะก็เพื่อทำให้ทีวีสาธารณะมีภูมิต้านทาน ทีวีสาธารณะทั่วโลกเขาก็จะต้องสร้างความร่วมมือในการทำรายการที่ดีๆ ถ้าเรามีเนื้อหาสาระที่ดีๆ ก็จะมีแต่คนวิ่งเข้ามาหาเรา แต่เราต้องจัดให้ดีว่าทำอย่างไรไม่ให้เป็นทีวีเพื่อการค้า ถ้าเราทำตรงนี้ได้ดีไปสักปีหนึ่ง ผมเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
หมายเหตุ: ชมคลิปฉบับเต็มได้ที่ http://news.thaipbs.or.th/clip/929