ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“กสทช.-นักวิชาการ-คนทำสื่อ” จับมือถอดบทเรียนจริยธรรม การเสนอข้อมูลบนโลกออนไลน์-รู้เท่าทันสื่อ

สังคม
29 ม.ค. 59
12:38
713
Logo Thai PBS
“กสทช.-นักวิชาการ-คนทำสื่อ” จับมือถอดบทเรียนจริยธรรม การเสนอข้อมูลบนโลกออนไลน์-รู้เท่าทันสื่อ
กสทช. นักวิชาการ สื่อมวลชน จับมือถอดบทเรียนจริยธรรม การเสนอข้อมูลบนโลกออนไลน์ เพื่อให้รู้รู้เท่าทันสื่อ พร้อมทั้งชวนผู้ชมร่วมตรวจสอบด้วย

วันนี้ (29 ม.ค.) สำนักงานกสทช. จัดสัมมนา หัวข้อ “บทเรียนจริยธรรมการนำเสนอข่าวบนสื่อออนไลน์ (Social Media): ในมิติการละเมิดสิทธิมนุษยชน” น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการ กสทช. ระบุว่า ในวงเสวนาได้ รายงานผลการศึกษาโครงการ “ศึกษาแนวทางการส่งเสริมจริยธรรมจรรยาบรรณและการกำกับกิจการสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี” โดย มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน

นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ระบุว่า การควบคุม หรือ กำกับ ทางรัฐ หรือ หน่วยกำกับ จะทำได้ยากขึ้น หรือ ล่าช้าขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่ไปดูแลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อจะดูว่าใครเป็นคนอัปโหลดเนื้อหา แต่หน่วยเกี่ยวข้องจะยังกำกับดูแลคนกลางที่รับผิดชอบช่องทาง (แพลทฟอร์ม) ที่ปล่อยให้มีเนื้อหาไม่เหมาะสมบนลิงค์ หรือ เว็บไซต์ แต่จะมีข้อจำกัดเรื่องข้อกฎหมาย ที่ใช้บังคับได้เพียงในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคง ในต่างประเทศอาจไม่สามารถนำกฎหมายมาใช้เอาผิดกับผู้โพสต์ หรือ เจ้าของแพลทฟอร์มนั้นได้

สำหรับการกำกับดูแล ให้ดูเฉพาะเนื้อหาและปิดกั้นเฉพาะคลิป หรือเนื้อหานั้นๆ แต่หากกำกับที่แพลทฟอร์ม อาจทำให้กระทบไปสู่เนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องมากขึ้นทั้งหมดด้วย

 

 

ส่วนการสัมมนาประเด็น “บทเรียนจริยธรรมการนำเสนอข่าวบนสื่อออนไลน์ (Social Media) :ในมิติการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ยกตัวอย่างกรณีศึกษาการกระบวนการรายงานข่าวการเสียชีวิตของ “ปอ ทฤษฏี”

นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า สื่อออนไลน์ มีความแตกต่างจากสื่อดั้งเดิม ซึ่งการเป็นนักข่าวจะแบ่งเป็นการส่งในนามของนักข่าวเอง และ ส่งในนามสำนักข่าว แต่การใช้สื่อออนไลน์ มีการแข่งขันด้านการส่งข้อมูลเร็ว ถ้ามีกระบวนการกลั่นกรองที่ดี แต่บางครั้ง ก็ไม่ได้มีการกลั่นกรองที่ดี เช่น การรีบโพสต์ หรือ แชร์ข้อความโดยไม่ได้ตรวจสอบ และบางครั้งจะเห็นว่า กองบรรณาธิการ ก็ไม่ได้มีกระบวนการกลั่นกรองที่รอบคอบ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิบุคคลอื่น ในส่วนของประชาชน ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิบุคคล ผู้ตกเป็นเหยื่อ หรือ ผู้ตกเป็นผู้ต้องหา

ทั้งนี้มุมของสื่อวิชาการนั้น ประเด็นด้านโซเชียลมีเดียถือเป็นเรื่องใหม่ และมีการถูกผลิตซ้ำในสื่อกระแสหลัก ซึ่งสื่อต้องเรียนรู้ว่า บางเรื่องเมื่อตอนเกิดเหตุ เป็นความจริงเพียงส่วนเดียว ไม่สามารถตัดสินถูกผิดได้ เช่น กรณี ดีเจดังถอยรถชน จะเป็นบทเรียนทั้งคนทำสื่อ ประชาชน และบุคคลากรในแวดวงวิชาการ

นอกจากนี้สิ่งที่สื่อและประชาชนต้องให้ความสำคัญ คือ การไม่ละเมิดลิขสิทธิ์หากนำข้อมูลของใครมาใช้ รวมถึงต้องมีกระบวนการว่า ทำอย่างไร ให้ประชาชนและนักศึกษาที่จะจบแล้วเข้าสู่แวดวงสื่อสารมวลชน รู้เท่าทันสื่อ

น.ส.ณัฏฐา โกมลวาทิน รองประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ เปิดเผยว่า สมาคมช่างภาพ สมาคม และ สภาวิชาชีพของสื่อเพื่อให้ตระหนัก โดยในส่วนของสภาวิชาชีพ ได้หารือกันว่า จะต้องหารือกันเอง ซึ่งปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนั้น ต้องยอมรับว่า เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่ง การทำงานของสื่อ อยู่บนความคาดหวังกับผู้บริโภคด้วย หากสื่อบางองค์กร มีการละเมิด ทางผู้บริโภค จะร่วมกันไม่สนับสนุน หรือ บอยคอตสื่อนั้นด้วยหรือไม่ ซึ่งจริยธรรมการทำข่าวยังต้องยึดหลักเดิม คือ การทำข้อเท็จจริง ไม่ละเมิดผู้อื่น การตรวจสอบประเด็นต่างๆ เชิงลึก ไม่ว่าจะอยู่ในแพลทฟอร์มไหน ทั้งนี้ไทยพีบีเอสมีสภาผู้ชม เพื่อตรวจสอบและนำเสนอข้อมูลให้กองบรรณาธิการรับทราบเพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงการทำงาน

“การใช้โซเชียลของนักข่าวในช่วง 5-6 ปีมานี้ เป็นการเรียนรู้ที่มีความตื่นตัวมากขึ้น ในการนำข้อมูลในโซเชียลมาใช้ ที่ต้องตรวจสอบและติดต่อไปยังผู้เป็นต้นฉบับ ในการเผยแพร่ข้อมูลนั้นๆ เพื่อนำมาผลิตงานต่อ และหากแต่ละองค์กรมีความชัดเจนในกระบวนการผลิตงาน เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดจริยธรรม ก็จะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงพลังงานของภาคประชาชนที่ช่วยกันตรวจสอบก็จะชัดเจนมากขึ้น”

 

 

ด้านนายพิภพ พานิชภักดิ์ สื่อมวลชนอิสระ ระบุว่า ปรากฏการณ์ที่เห็นคือ การก้าวล่วงแบบเจตนา และ มีแบบไม่เจตนา ซึ่งเมื่อทุกคนอยู่ในยุคเข้าถึงสื่อ จะเห็นการละเมิดจริยธรรม หรือทำผิดกติกาเกิดขึ้น ทั้งในส่วนของสายวิชาชีพ กลุ่มบรรณาธิการ และประชาชนผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งกลุ่มนี้ มีพลังไม่น้อยกว่าสื่อกระแสหลัก ซึ่งกติกาที่จะต้องคุยกันจะต้องคุยกัน

กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเผยแพร่เนื้อหาบางเหตุการณ์ เพื่อต้องการเรียกยอดไลค์ หรือ ยอดแชร์นั้น อาจต้องคำนึงว่าจะมีกระบวนการอย่างไร ไม่ให้เกิดการทำผิดซ้ำซาก ลดการรายงานสื่อที่กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้ง หลีกเลี่ยงการเห็นภาพศพ การไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และต้องมีบทลงโทษหากมีการละเมิด

น.ส.อศินา พรวศิน บรรณาธิการโซเชียลมีเดียและไอที เนชั่น ระบุว่า ภาพที่ได้มา กองบรรณาธิการ มีกระบวนการตัดสินใจในการเลือกภาพเพื่อนำเสนอ รวมถึงการพาดพิงถึงแหล่งข่าวเพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด สำหรับการนำเสนอเนื้อหาข้อมูลบนโลกออนไลน์ของสื่อกระแสหลักนั้น เห็นว่า ภาพรวมสื่อมีความเข้าใจมากขึ้นและลดความเป็นปักเจกของบุคคล ซึ่งกระบวนการเผยแพร่ข้อมูลนั้น ตัวนักข่าวเอง จะมีกระบวนกานฝึกให้เข้าประชุม เลือกประเด็น เพื่อให้นักข่าวมีทักษะในการเลือกข้อมูล

ส่วนการใช้ข้อมูลโซเชียลมีเดีย สามารถใช้เลือกหาแหล่งข่าวใหม่ๆ ได้ แต่จะต้องตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องของแหล่งข่าว เพื่อนำเสนอตามกระบวนการทางสารศาสตร์ ผสมกับพื้นฐานการทำข่าว ตามจริยธรรมที่ต้องรู้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามภายหลังการเสวนา น.ส.สุภิญญาให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น อาจทำให้ลืมเรื่องกาละเทศะ ระเบียบวินัยพื้นฐานในสังคม ที่ต้องตอกย้ำให้ตระหนักถึงสามัญสำนึกที่สื่อต้องตระหนักด้วย รวมถึงแนวทางการการกำกับแบบสำเร็จรูป ซึ่งเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่อง สำคัญ ที่สื่อต้องปกป้องคุ้มครอง และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วย ซึ่งกลไกการบอยคอตของสังคม ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะหากให้รัฐกำกับเองอาจไม่มีพลังเท่ากับสังคม ส่วนการยกระดับการปรับตามคำสั่งของกสทช. ก็อยู่กระบวนการพิจารณาในส่วนข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งหมดก็ต้องไม่ล้ำอำนาจ หรือละเมิดหน้าที่สิทธิเสรีภาพของสื่อด้วย เพื่อให้สื่อทำหน้าที่และบาทบาทในการตรวจสอบประเด็นต่างๆ ได้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง