การทุจริตคอร์รัปชั่น หากจะเปรียบเป็นพฤติกรรมน่ารังเกียจที่ทำร้าย ทำลายประเทศ คงไม่เกินจริงไปนัก ถ้ายิ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นแบบเรื้อรัง โอกาสในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ก็จะยิ่งหยุดชะงักตามมา และบวกกับสังคมไทย ละเลยเพิกเฉย หรือคุ้นชินกับการโกงเป็นเรื่องธรรมดาด้วยแล้ว ก็จะยิ่งเป็นแรงผลักดันชั้นดี ให้ประเทศจมดิ่งไปสู่วังวนแบบเดิมๆ
เพื่อเป็นการเพิ่มพลังพลเมือง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วม สร้างให้สังคมไทยเกิดการตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าว เวทีเสวนา “Hot Shot Film เล่าเรื่องโกง เปิดโปงกระแสคอรัปชั่น” ที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา ในงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 2 ได้เชื้อเชิญ ผู้กำกับหนัง นักคิด นักเขียนกิตติมศักดิ์ มาบอกกล่าวถึง กลโกง และเปิดโปงกระแสสังคมคอรัปชั่นในรูปแบบต่างๆ ผ่าน “หนังสั้น” ที่คิดและกำกับขึ้นเอง โดยหยิบยก เรื่องราว ใกล้ตัว วิถีชีวิตประจำวัน เพื่อความหวังร่วมกันในการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาปราศจากการทุจริต
โดยพัฒนะ จิรวงศ์ ผู้แทนสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ได้บอกถึงที่มาในการทำหนังสั้นว่า “เพื่อเป็นการสร้างสรรค์ผลงาน และสะท้อนให้สังคมได้เห็นถึงการโกงในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น จึงอยากทำอะไรบางอย่างในการกระตุ้นเตือน ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ความลงตัวจึงอยู่ที่“หนังสั้น” ซึ่งในที่นี่เป็นในส่วนของผู้กำกับกิตติมศักดิ์ โดยความมุ่งหวังของเรา คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ทันที เพราะการคอรัปชั่นได้ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่อย่างน้อยการทำเช่นนี้ก็สามารถกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักถึงเรื่องนี้ว่าเป็นภัยร้าย ที่คอยบั่นทอนความเจริญของประเทศ”
คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ หรือ ว.วินิจฉัยกุล นักประพันธ์นวนิยายชื่อดัง กล่าวถึงหนังสั้นที่ทำว่า “ตัวเองทำเรื่อง“ครับผม”ที่ในบทพูดมักจะมีคำว่า“ครับผม”อยู่ตลอดเวลา ซึ่งคำๆนี้ เป็นการหยิบยก มองการโกงในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่มักได้ยินบ่อยครั้งทั้งในวงราชการ ที่เห็นอะไรก็ว่าตามกัน ในทุกๆเรื่องหนังสั้นเรื่องนี้ได้บอกถึง กลโกงในปัจจุบัน ที่ไม่ได้มีเฉพาะการยักยอกทรัพย์ในหน่วยงานเท่านั้น แต่ยังมีในรูปแบบของ การเรียกลูกสาว หรือญาติ มารับตำแหน่ง หน้าที่ เพื่อนความมุ่งหวังสำคัญคือ การวิ่งเต้น การประสานงาน ที่จะมีแต่ง่ายขึ้น รวมไปถึงการใช้งบประมาณอย่างผิดวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะการไปดูงานแต่แฝงไปด้วยการเที่ยวในต่างประเทศ เป็นต้น”
ด้านเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ นักเขียนรางวัลซีไรท์ กล่าวถึงหนังสั้นที่นั่งปั้นมากับมือว่า “ตนทำเรื่อง“กำแพงในสะพาน”เป็นเรื่องราวของชีวิตครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากการโกง การคอรัปชั่น การสร้างสะพานข้าม ระหว่างที่ 3 คนพ่อแม่ลูก กำลังขับขี่และซ้อนมอเตอร์ไซด์เพื่อข้ามสะพาน ได้เกิดสะพานถล่ม รถล้มคว่ำ ทำให้ลูกที่เรียนอยู่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน คนพ่อก็พิการ ส่วนคนเป็นแม่ ต้องหาเงินเพียงลำพังพร้อมทั้งเรียกร้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมา ที่ซ้ำร้ายกลับถูกเพิกเฉยจากสังคม นำไปสู่โศกนาฏกรรม ที่สุดท้ายลูกชายต้องเสียชีวิต”
สุดท้ายเป็นฝีมือการกำกับของ อนุชัย ศรีจรูญภู่ทอง ช่างภาพชื่อดัง บอกว่า “ตนทำหนังเรื่อง“กล้วยแขก” โดยหยิบยกเรื่องราวของเด็กน้อยคนหนึ่ง เดินตระเวนขายกล้วยแขกตามแยกไฟแดง เริ่มแรกเกิดจากความบังเอิญที่เด็กคนดังกล่าวทอนเงินไม่ทัน เมื่อมีไฟเขียว ผู้ที่ซื้อกล้วยแขกอยู่ในรถตัดความรำคาญ จึงมอบเงินที่เหลือนั้นให้กับเด็กคนนั้นไป พอเด็กน้อยคนนี้กลับมาบ้าน แม่ก็ชอบอกชอบใจ โดยกำชำว่า วันหลังไปขาย ให้ตีเนียนทำทอนช้าเข้าไว้”
บทสรุปในวงเสวนา มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ การทุจริตคอรัปชั่น ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย นับเป็น ปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาช้านาน การปลูกฝัง ให้เด็กมีจิตสาธารณะตั้งแต่ยังเยาว์ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อนำไปสู่การมองที่ผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญเพราะการคอรัปชั่น ไม่ได้มีอยู่คู่เฉพาะ“นักการเมือง” อย่างที่เข้าใจเท่านั้น แต่การโกง และการทุจริตคอรัปชั่น สามารถ เกิดขึ้นได้จากคนทุกคน ร่วมสร้างพลังพลเมืองให้ตนเอง โดยไม่หวังพึ่งรัฐ เดินหน้าประเทศไทยเข้มแข้ง อย่าปล่อยการโกงกลายเป็นความชินในชีวิตประจำวัน...