โครงการ"ร้านค้าถูกใจ" ช่วยคนไทยลดค่าครองชีพได้จริงหรือ

6 พ.ค. 55
15:14
20
Logo Thai PBS
โครงการ"ร้านค้าถูกใจ" ช่วยคนไทยลดค่าครองชีพได้จริงหรือ

เสียงบ่นของประชาชนถึงราคาสินค้าแพง และค่าครองชีพสูง ทำให้รัฐบาลพยายามหามาตรการออกมาช่วยเหลือ และหนึ่งในมาตรการนั้นก็คือโครงการขายสินค้าจำเป็นราคาถูกกว่าท้องตลาด 20 รายการ ผ่านร้านถูกใจ ภายใต้งบประมาณกว่า 1,300 ล้านบาท ขณะที่นักวิชาการบางรายเห็นว่าโครงการนี้เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ซึ่งการจะทำให้สินค้าราคาถูก จะต้องส่งเสริมบรรยาการการแข่งขันให้มากขึ้น

<"">
<"">

การแก้ปัญหาของแพงด้วยการขายของถูก 20 รายการผ่าน "ร้านค้าถูกใจ"ในโครงการโชว์ห่วยชาติเพื่อลดภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นของประชาชนในเวลานี้ อาจจะทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าจะสามารถลดได้จริงหรือไม่ ขณะที่รัฐบาลใช้งบประมาณไปกับการดำเนินโครงการนี้ถึง 1,320 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 6 เดือน เพื่อสนับสนุนระบบโลจิกติกส์ ค่าบริหารจัดการและสนับสนุนร้านค้า  

สินค้าที่จะนำมาวางขาย เป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ 20 รายการ ภายใต้แบรนด์ "ร้านถูกใจ" ซึ่งจะถูกกว่าราคาท้องตลาดร้อยละ 20 เช่น ข้าวสาร น้ำตาลทราย น้ำมันปาล์ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไข่ไก่ (กราฟฟิค) คาดว่าจะช่วยให้ประชาชน 10 ล้านคน ลดภาระค่าใช้จ่ายได้ 600 บาทต่อเดือน

ขณะที่ในมุมมองของ รศ.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เห็นว่าโครงการนี้เป็นเพียงโครงการระยะสั้น และไม่ทั่วถึงเพราะปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าจากตลาด ร้านสะดวกซื้อรวมไปถึงห้างค้าส่งค้าปลีก ขณะที่สินค้าที่วางจำหน่ายในร้านก็มีน้อยเกินไป จึงทำให้ร้านถูกใจอาจไม่ถูกใจประชาชนอย่างที่รัฐบาลคาดหวัง

รศ.มนตรี ยังแนะวิธีการแก้ปัญหาของแพงว่า รัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้ธุรกิจมีการแข่งขันกันโดยผลักดันให้ธุรกิจต่าง ๆ เข้าสู่ระบบตลาดได้มากขึ้นและส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีโอกาสเติบโตซึ่งจะทำให้สินค้ามีมากขึ้น  โดยเห็นว่าสำนักงานแข่งขันทางการค้าของกระทรวงพาณิชย์ ควรใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าให้มีประสิทธิภาพ เพื่อปกป้องการทุ่มหรือครอบงำตลาดทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมซึ่งจะทำให้ราคาสินค้ามีโอกาสถูกลง เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา ที่มีกฎหมาย Antitrust Law หรือ กฎหมายป้องกันการผูกขาดทางการค้าที่เข้มแข็งทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุดจากกลไกราคา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง