กรมสุขภาพจิตห่วงคนไทยเสี่ยงเป็น
จากการสำรวจตัวอย่างกลุ่มผู้หญิงช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปีและ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 1,000 คนพบว่า ร้อยละ 62.5 เคยเล่นการพนัน แม้รู้ว่าผิดกฎหมาย โดยในกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เคยพนันบอลแล้วร้อยละ 40.6 และเมื่อแยกตามอาชีพพบว่ากลุ่มว่างงานมีจำนวนมากที่สุดร้อยละ 75 รองลงมาคือข้าราชการรัฐ, วิสาหกิจ ร้อยละ 70 ขณะที่นักเรียนนักศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 49 โดยมีสาเหตุเพื่อความสนุกมากถึงร้อยละ 55 รองลงมาคือเล่นตามเพื่อนหรือแฟนร้อยละ 53 และชอบความตื่นเต้นร้อยละ 46 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23 ยืนยันว่า มีคนในครอบครัวเล่นพนันบอล และร้อยละ 23 เข้าถึงแหล่งพนันบอลได้ง่ายมาก โดยร้อยละ 20 จะติดตามอัตราการต่อรอง วิเคราะห์ ผลการแข่งขัน ร้อยละ 16 พูดคุยผลการแข่งขันและอัตราต่อรอง ร้อยละ 13 เคยคิดหาเงินด้วยการพนันบอล ซึ่งผลกระทบจากการติดตามการแข่งขันพบว่าร้อยละ 48 ป่วย เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ, ร้อยละ 41 ต้องหยุดงานหรือเรียน, ร้อยละ 31 มีหนี้สิน, ร้อยละ 16 ถูกทำร้ายร่างกาย, ร้อยละ 15 ใช้หนี้ด้วยการค้ายาเสพติดและขายบริการทางเพศและร้อยละ 11 เคยพยายามฆ่าตัวตาย ขณะที่ผลสำรวจของกรุงเทพโพลมหาวิทยาลัยกรุงเทพ พบว่า ร้อยละ 27.5 มีความคิดที่จะเล่นพนันบอล โดยพบมากในกลุ่มอายุ 15-25 ปีร้อยละ 10.1 รองลงมาอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 8.9 และอายุ 36-46 ปีร้อยละ 5.6 โดยจำนวนเงินที่คาดว่าจะเล่นแต่ละครั้ง มีตั้งแต่ 50 บาท ถึง 500 บาท
ในขณะที่กรมสุขภาพจิตได้แสดงความเป็นห่วงว่าคนไทยมีความเสี่ยงต่อการเป็น "โรคติดพนัน (Pathological Gambling)” มาก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และระบบสารเคมีในสมองผิดปกติ ทำให้บุคคลรู้สึกตื่นเต้นและสนุกสนานอยู่กับการเล่นพนัน แต่อีก 2 สาเหตุสำคัญ ก็คือ สิ่งแวดล้อม และสิ่งยั่วยุต่าง ๆ โดยเฉพาะการนำเสนอของสื่อมวลชน ที่มีการวิเคราะห์เกมการเล่นของแต่ละทีม และทำนายแนวโน้มผลการแข่งขัน จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการอยากเล่นพนันมากขึ้น โดยโรคติดพนันถือเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่ผู้ป่วยไม่สามารถต่อต้านแรงกระตุ้น หรือความต้องการของตัวเองได้ และจะหมกมุ่นอยู่กับการเล่นพนัน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ สำหรับวิธีการรักษาในกลุ่มที่เริ่มติดพนัน ควรใช้จิตสังคมบำบัด ด้วยการให้คำแนะนำ ให้กำลังใจและดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนในกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคติดพนันแล้ว จะต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดจากสถาบันจิตเวช เพื่อรักษาให้หายขาด ส่วนนายจะเด็ด เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง