นิด้า เชื่อวิกฤติหนี้ยุโรปไม่กระทบไทยมาก เตือนนักลงทุนอย่าตื่นตูม
แนะจับตาประชุมเฟด 20 มิ.ย.นี้ ชี้มีโอกาสออก QE 3ดันบาทแข็งค่า
ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์นิด้า หรือ MPANIDA มองวิกฤติหนี้ยุโรปไม่กระทบเศรษฐกิจไทยมากนัก ชี้ความรุนแรงของปัญหาไม่เหมือนวิกฤติการเงินสหรัฐเมื่อปี2008 เตือนนักลงทุนอย่าตระหนก หลังพื้นฐานเศรษฐกิจไทยปีนี้แข็งแกร่ง ชี้จับตามองการประชุมเฟด20 มิย.นี้ ชี้มีโอกาสออกมาตรการ QE 3 ดันเงินไหลเข้าตลาดเอเชียหนุนเงินบาทไทยแข็งค่า
รศ.มนตรี โสคติยานุรักษ์ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (MPA) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เปิดเผยว่าหลังจากผลการเลือกตั้งของกรีซเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมามีแนวโน้มว่า พรรคการเมืองประชาธิปไตยใหม่จะได้เป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งพรรคการเมืองดังกล่าวมีนโยบายสนับสนุนการรัดเข็มขัดเพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ โดยได้เตรียมเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอผ่อนปรนการจัดทำมาตรการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่กับการรัดเข็มขัดโดยเชื่อว่า เจ้าหนี้พร้อมผ่อนปรนมาตรการบางข้อ เพื่อให้กรีซสามารถใช้มาตรการทางการคลังเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติหนี้ในครั้งนี้ให้ดียิ่งขึ้นเพราะหวั่นเกรงว่า ปัญหาจะลุกลามไปสู่วิกฤติหนี้ยุโรปได้
ทั้งนี้ในกรณีเลวร้ายสุด หากไม่สามารถแก้ปัญหาจนเกิดวิกฤติหนี้ทั่วยุโรปนั้น เชื่อว่า ปัญหาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับไทยมากนักเนื่องจากมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างไทยและยุโรปมีเพียง 10% ของมูลค่าการค้าการลงทุนทั้งหมดซึ่งถือว่า ไม่มากเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีนที่มีมูลค่ากว่า 19% หรือไทยกับประเทศในอาซียน ที่มีมูลค่า22% อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นนั้นจะเป็นเพียงระยะสั้นๆ จากปัจจัยการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนในไทยมากขึ้นซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนบ้าง
“วิกฤติหนี้ยุโรปครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก เพราะปัญหาไม่ได้รุนแรงเหมือนครั้งวิกฤติการเงินของสหรัฐฯเมื่อปี 2008 เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจยุโรปมีขนาดเล็กกว่าประเทศสหรัฐฯและมูลค่าการค้าระหว่างไทยและยุโรปก็ไม่ได้มากนัก ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็มีการกระจายการค้าการลงทุนไปในหลายประเทศทั้งจีนและอาเซียนที่ยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ดังนั้นนักลงทุนและเอกชนไม่ควรตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์ครั้งนี้มากนัก เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีความแข็งแกร่งอีกทั้งภาครัฐยังมีเครื่องมือด้านการเงินการคลังที่มีความพร้อมพยุงเศรษฐกิจเพื่อต่อสู้ปัญหาวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”รศ.ดร.มนตรี กล่าว
ผู้อำนวยการหลักสูตรเอ็มพีเอ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าวด้วยว่าสิ่งที่น่าจับตามองขณะนี้คือ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 20มิถุนายนนี้ ว่าจะออกมาตรการเพื่อเข้ามาพยุงเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรปอย่างไรบ้างซึ่งหากเฟดดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินรอบที่ 3 (QE3) โดยอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเศรษฐกิจนั้นจะส่งผลกระทบมีเม็ดเงินเข้ามาไหลเข้ามาสู่ตลาดเอเชียและไทยมากขึ้นและทำให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกของไทยได้