หลายหน่วยงานตรวจสอบที่มาน้ำมันเตารั่วใน จ.กระบี่

5 ก.ค. 55
14:45
9
Logo Thai PBS
หลายหน่วยงานตรวจสอบที่มาน้ำมันเตารั่วใน จ.กระบี่

ปัญหาน้ำมันเตารั่วบริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดกระบี่ขณะนี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น หลังหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขจัดคราบน้ำมัน เริ่มพบที่มาของเรือลักลอบขายน้ำมันเตาผิดกฎหมายให้เรือประมง อ.สมศักดิ์ ว่า เป็นเรือขนส่งน้ำมันรายใหญ่ของบริษัทแห่งหนึ่ง ขณะที่ชาวตำบลแหลมกรวด ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วตั้งข้อสงสัยพฤติกรรมผู้นำชุมชนที่ทำแนวคันดินล้อมป่าชายเลน โดยอ้างว่าไม่ให้คราบน้ำมันขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่น

แนวคันดินยาวกว่า 200 เมตร ที่ถมลุกป่าชายเลน บริเวณบ้านแหลมกรด ตำบลแหลมกรวด อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ถูกตั้งข้อสังเกตจากชาวบ้านแหลมกรวด ถึงพฤติกรรมของผู้นำชุมชนที่ใช้รถแบ็คโฮขุดดินล้อมป่าชายเลนกินเนื้อที่หลายสิบไร่ โดยอ้างป้องกันไม่ให้คราบน้ำมันเตาที่รั่วจากเรือประมงเมื่อวัน 20 ก่อน ถูกน้ำทะเลพัดเข้ามากองป่าชายเลนแห่งนี้ ชาวบ้านมองว่าการทำแนวคันดินล้อมป่าชายเลนเป็นข้ออ้างของผู้นำชุมชนที่ต้องการครอบครองพื้นที่ป่าชายเลน
   
ด้านกำนันตำบลแหลมกรวดยอมรับว่าได้นำรถแบ็คโฮทำคันดินล้อมป่าชายเลนเพื่อกันคราบน้ำมัน แต่หากผิดกฎหมาย ก็พร้อมรื้อคันดินออก ส่วนกรมเจ้าท่าจังหวัดกระบี่มองว่าการถมป่าชายเลนลุกล้ำทะเลเข้าข่ายทำผิดกฎหมายกรมเจ้าท่า แต่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าพื้นที่ป่าชายเลนที่ถูกบุกรุกนั้นมีเอกสารสิทธิ์ครอบครองหรือไม่ หากไม่ถูกต้องก็จะดำเนินคดีกับผู้รุกล้ำ
   
ข้อมูลจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่พบว่าในพื้นที่มีโรงงานทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่รวมกันประมาณ 500 โรงงาน และมีเพียงโรงไฟฟ้ากระบี่เพียงแห่งเดียวที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง ส่วนน้ำมันเตาที่รั่วไหลนั้นหลายหน่วยงาน ในพื้นที่ระบุตรงกันว่ามาจากเรือบริษัทขนส่งน้ำมันรายใหญ่แห่งหนึ่งที่ขนส่งน้ำมันเตาให้กับโรงไฟฟ้ากระบี่ ได้ลักลอบขายน้ำมันเตาอย่างผิดกฎหมายให้กับเรือประมง อ.สมศักดิ์ เพื่อนำไปขายต่อให้กับผู้รับซื้ออีกทอดหนึ่ง
   
ขณะที่นายสุรพล วงษ์ธัญญกรณ์ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าภาคใต้เปิดเผยว่าโรงไฟฟ้ากระบี่ทำสัญญาสั่งซื้อน้ำมันเตาจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยหรือ ปตท. และเมื่อน้ำมันเตาหมดก็จะให้ส่วนกลางเป็นผู้สั่งซื้อ เพื่อบรรทุกน้ำมันเตามาจากจังหวัดชลบุรี ฝั่งอ่าวไทย ผ่านประเทศสิงคโปร์ มายังทะเลอันดามัน เข้าสู่จังหวัดกระบี่ โดยบรรทุกผ่านเรือบรรทุกขนาดใหญ่ซึ่งในแต่ละเที่ยวสามารถบรรทุกได้กว่า 2 ล้านลิตร ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีเรือเข้ามาส่งน้ำมันอย่างน้อย 4 เที่ยวเพื่อให้พอต่อปริมาณการใช้น้ำมันเตาของโรงไฟฟ้ากระบี่ที่มีกว่า 10 ล้านลิตร ส่วนการลักลอบขายน้ำมันเตานั้นโรงไฟฟ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะไม่ได้เป็นผู้ขนส่งน้ำมันแต่อย่างใด


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง