ครูต้อง “เปลี่ยน” สังคมต้องมีส่วนร่วม การจัดการศึกษา “เพื่ออนาคตใหม่”
นักวิชาการชี้ คุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทยลดลง แนะทุกภาคส่วนในสังคมทั้งภาคธุรกิจ ชุมชน ครอบครัว การจัดการศึกษา “เพื่ออนาคตใหม่” ครูต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทั้งทักษะชีวิต และทักษะวิชาชีพ ที่พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับอาเซียน และสังคมโลก
ดร.ดิลกะ ลักธิพิพัฒน์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาเรื่อง “การจัดการศึกษาเพื่ออนาคตใหม่” ในงานมหกรรมวิชาการ สกว. ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี ที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทยตกต่ำลง เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยปฏิรูปการศึกษาโดยที่การกระจายอำนาจของประเทศยังไม่เข้มแข็ง ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าเด็กที่จบ ป.6 ร้อยละ 30 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ครูเงินเดือนขึ้น แต่ความรู้ของเด็กเท่าเดิม
เหตุนี้จึงต้องมีการทบทวนระบบการศึกษาไทยใหม่ทั้งหมด จึงอยากให้กระทรวงศึกษากับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน “ปฏิรูปข้อสอบ” ใหม่ โดยให้มีการสอบไล่ในหลายระดับชั้น ช่วงแรกอาจเริ่มแค่ชั้น ม. 3 และ ม. 6 ก่อน ในวิชาหลัก คือคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อวัดคุณภาพของเด็ก วัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์
ด้าน ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะภาพ นักวิชาการการศึกษา กล่าวว่า อนาคตของประเทศไทยขึ้นอยู่กับระบบการศึกษา เราพูดมาตั้งแต่ปี 1990 แล้วว่าการศึกษาเป็นเรื่องของปวงชน ฉะนั้นทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งสิ้น ทุกคนในสังคมต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ทั้งสถาบันทางเศรษฐกิจ สถาบันสังคม รวมทั้งสื่อมวลชน และที่สำคัญคือสถาบันครอบครัว
“ขณะนี้ที่การศึกษาไทยตกต่ำ เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่นิยมนำลูกไปฝากไว้กับครู เวลาเกิดเหตุไม่ดีขึ้นก็มักโทษครูโทษโรงเรียน ซึ่งตนอยากบอกว่าจริงๆ แล้วเด็กมีเวลาอยู่กับครูอยู่กับโรงเรียนวันละไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ขณะที่เด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัวกับชุมชน จึงอยากให้พ่อแม่หันมาให้ความสนใจบุตรหลานมากกว่านี้ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ากระทรวงศึกษาธิการทำดีแล้ว แต่อยากให้ทุกคนเห็น ประเด็นชัดเจนร่วมกันว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะมองอนาคตการศึกษาไทย สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือต้องปลุกกระแสให้ทุกคนมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่เข้าถึงเยาวชนได้ทุกเรื่องทุกเวลา”
นายสุทธิ สายสุนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล กล่าวว่า โดยส่วนตัวตนคิดว่าระบบการศึกษาไทยคงต้องมีการ “ปฏิวัติ” กันใหม่ เพราะการ “ปฏิรูป” คงไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาได้ ปัญหาการศึกษา ปัญหาเยาวชนไทยถาโถมเข้ามาทุกวัน ทั้งภาพข่าวที่สื่อออกมาทุกวันมีแต่ข่าวเชิงลบทั้งสิ้น เด็กไม่มี “ต้นแบบ” ที่ดีให้ดูเลย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก การศึกษาปัจจุบันเป็นแบบแยกส่วน มีการแบ่งหน้าที่กันตั้งแต่ระดับกระทรวงไปจนถึงโรงเรียน จัดแบ่งวิชาสอน อาทิ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาภาษาไทย ให้ครูทุกคนแบ่งกันทำงานโดยนำวิชาเป็นตัวตั้ง คาดหวังให้นักเรียนเก่งทุกวิชา ตนจึงมองว่าน่าจะมีการปรับหลักสูตรใหม่ โดยระดับประถมศึกษาให้ลดลงเหลือ 4 สาระการเรียนรู้และวิชาท้องถิ่นหนึ่งวิชา เพราะปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยรู้จักรากเหง้าของตนเองน้อยลง เนื่องจากใช้ตำราเดียวกันทั้งประเทศ ในขณะที่แต่ละโรงเรียนมีบริบทไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการเรียนรู้บริบทชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น และที่สำคัญวิชาที่จำเป็นต้องมีคือ วิชาชีพ และวิชาชีวิต ที่เยาวชนทุกคนต้องมีติดตัว ซึ่งปัจจุบันวิชาชีวิตหายไปจากโรงเรียนแล้ว เพราะสังคมมองว่าตัวชี้วัดการศึกษาคือผลสอบเท่านั้น
“ผมสังเกตเห็นว่าปัจจุบันไม่มีสถาบันการศึกษาใดมีโควต้าเด็กดีเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ หรือเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยชื่อดังเลย มีแต่โควต้าเด็กเก่งเท่านั้น เมื่อสถาบันการศึกษาชี้นำแบบนี้ ผู้ปกครองจึงมุ่งให้เด็กเรียนเพียงอย่างเดียว ความทุกข์จึงเกิดขึ้นกับเด็กตั้งแต่อนุบาลที่ต้องเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน มีสถาบันติวเตอร์เกิดขึ้นทั่วเมืองกลายเป็นธุรกิจการศึกษา สมองเด็กไทยพัฒนาอยู่เพียงซีกเดียวคือซีกซ้าย แต่ถามว่าการที่เขารู้จักตัวตน พัฒนาทักษะชีวิตและความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบที่คาดหวังใน พ.ร.บ.การศึกษามีหรือไม่ คำตอบคือไม่มี เพราะเราไม่มีพื้นที่ให้เขาปฏิบัติ ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาที่เราจะต้องร่วมมือกันปฏิรูปการศึกษาเสียที”
ด้านนายชัชวาล ทองดีเลิศ สภาศึกษาทางเลือก กล่าวว่า ระบบการศึกษาที่ ปัจจุบันเป็น “การศึกษาติดกรอบ” เพราะการศึกษาที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องมีอาคารที่หรูหรา ไม่จำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์ ไม่จำเป็นต้องมีแท็บเล็ต แต่เน้นตัวเนื้อหาแกนหลักที่แท้จริงของการศึกษาที่มีจุดร่วมกันคือ การพัฒนาความงอกงามของชีวิตหรือความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ของการศึกษา นอกจากพัฒนาชีวิตแล้วการศึกษาจะต้องพัฒนาไปถึงชุมชนที่เข้มแข็ง เชื่อมโยงสู่การพัฒนาสังคมด้วย ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับกระบวนการเรียนรู้ใหม่ จากเดิมที่เคยเรียนรู้อยู่ในห้อง ท่องจำ ทำอะไรไม่เป็น สอบเลื่อนชั้นแล้วรับใบปริญญาหนึ่งใบ ต้องคิดใหม่ว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงอยู่นอกห้องเรียน อยู่ที่ชีวิต อยู่ที่ความจริงของสังคม การศึกษาทางเลือกยืนยันเรื่องนี้ว่าการศึกษาต้องมีความหลากหลาย เพราะศักยภาพตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีความหลากหลาย ฉะนั้นทำอย่างไรให้คนได้ค้นพบตนเอง เมื่อค้นพบตนเองแล้วก็จะค้นพบเป้าหมายของชีวิต ได้รู้ว่าตนเองเหมาะสมกับการเรียนรู้ด้านไหน นั่นคือการเรียนรู้รากเหง้าอย่างเท่าทันโลกาภิวัตน์
ด้าน นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หัวใจของการเสวนาในครั้งนี้ คือ ต้องมอง การศึกษาในมิติที่กว้างกว่าการนั่งเรียนในห้องเรียน แต่เป็นมิติแห่งการเรียนรู้ อาทิ คนที่สร้างการเรียนรู้กับเด็กคือพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นเบื้องต้น ส่วนผู้สร้างการเรียนรู้รองลงมาคือชุมชนกับสังคม พ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดกระบวนการการเรียนรู้ของเด็กด้วยตนเอง
ขณะที่ภาคของเอกชนก็ต้องลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับการสร้างการเรียนรู้ของเด็ก เพราะหากระบบการศึกษาผลิตคนรุ่นใหม่ไม่ได้อย่างที่ภาคเอกชนต้องการ ภาคเอกชนก็จำต้องผลิตบุคคลากรโดยเปิดเป็นโรงเรียนเฉพาะทางเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทขององค์กร นอกจากนี้หัวใจสำคัญของการเรียนรู้อีกอย่างหนึ่งคือ การเรียนรู้จากการลงมือทำ จากกิจกรรมที่สร้างการเรียนรู้ของผู้เรียนจากชีวิตนอกห้องเรียน การขยายสิ่งดีๆ จากหลายโรงเรียนเหล่านี้ไปทั้งประเทศทำอย่างไรให้ของดีที่มีอยู่ขยายต่อไป ฉะนั้นการขยายต้องจับมือกับหลายหน่วยงานทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนเป็นต้น
ในอนาคตเด็กรุ่นใหม่ต้องพบเจอกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมหาศาล เพราะการหลอมรวมของ ประชาคมอาเซียน (Asean Economics Community : AEC) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีเคยมีใครวิเคราะห์เลยว่าเมื่อเราเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ชุมชน สังคมของเราจะต้องพบเจอกับสถานการณ์ใดบ้าง ความรู้ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาจะได้รับผลกระทบอย่างไร เมื่อ AEC เข้ามามีบทบาทในประเทศไทย ทั้งเรื่องของความต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา เราไม่อาจทราบได้ว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะต้องพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เชื่อได้ว่าในอนาคตทั่วทุกพื้นที่ของโลกต้องใช้อินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งจะส่งผลต่อความรวดเร็วในการผลิตความรู้มากขึ้น
“สังคมไทยมองว่าเรื่องการศึกษานั้นอยู่ที่ผู้ทรงภูมิรู้ ส่วนคนธรรมดาไม่ค่อยมีส่วนร่วม แต่ในวันนี้ทั้งภาคธุรกิจ ชุมชน ครอบครัว รวมทั้งเด็กต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงว่าผู้เรียนต้องการอะไร พ่อแม่ก็ต้องการรู้ว่าลูกเรียนจบแล้วจะประกอบอาชีพอะไร ผู้ประกอบต้องการคนมีทักษะอย่างไร คนในชุมชนต้องบอกว่าอยากเห็นคนไทยมีสำนึกอย่างไร ไม่เช่นนั้นการปฏิรูปการศึกษาจะกลับไปที่เรื่องโครงสร้างแต่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของผู้เรียน เชื่อว่ากระทรวงศึกษาธิการความตั้งใจจริง เพียงแต่ต้องมองหลายมิติและชวนกันทำงาน”