กรมสอบสวนคดีพิเศษมีการเก็บข้อมูล และตรวจสอบเครื่อง พบถึงความผิดปกติ 2 ส่วน คือ การจัดซื้อในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง และพบความผิดปกติในลักษณะของการฮั้วราคาของบริษัทเอกชนที่เป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน
ทั้งนี้ ดีเอสไอ ส่งเรื่องให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้ว ตั้งแต่ปี 2553 โดยขั้นตอนหลังจากนี้ จะให้ 13 หน่วยงาน ที่จัดซื้อเครื่องจีที 200 ไปใช้งาน ตรวจสอบความผิดปกติ และ แจ้งความร้องทุกข์กับ ดีเอสไอ เพื่อดำเนินคดี ต่อไป
ขณะที่กองทัพอากาศเป็นหน่วยงานแรกที่ใช้เครื่องตรวจวัตถุระเบิดในสมัยที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพอากาศ ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพล เรียกร้องว่า ก่อนจะสรุปผล ดีเอสไอควรจะถามผู้ที่ใช้งานในพื้นที่จริงประกอบด้วย เนื่องจากการใช้งานเครื่องดังกล่าวในพื้นที่ภาคใต้ สามารถตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริงเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนั้น ทุกฝ่ายพอใจในการทดลองใช้ จึงมีการดำเนินการจัดซื้อ แต่ก็ยอมรับว่า เมื่อผลออกมาว่าเป็นเรื่องหลอกลวง ก็ต้องรับฟัง และ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบต่อไป