เดนิซ กูเลอร์ รองประธานสภาสูงสุดฝ่ายกิจการวิทยุและโทรทัศน์ของตุรกี (ทูร์เคีย) เปิดเผยเมื่อ 18 ธ.ค. 67 ว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหมู่เด็กและเยาวชนในตุรกีกำลังสร้างปัญหาทางจิต เช่น อาการ “กลัวตกกระแส” (FOMO) และ “ออทิสติกเทียม” (virtual autism)
กูเลอร์กล่าวว่าการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลมากเกินไป การเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์อยู่เสมอ การเสพติดหน้าจอ และอาการกลัวตกกระแส กำลังนำสู่ความท้าทายทางจิตในเด็ก ทั้งการนอนหลับที่ผิดปกติ ความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น และการเห็นคุณค่าในตนเองลดลง
ด้วยเหตุนี้ ตุรกีกำลังสำรวจหาระเบียบข้อบังคับที่เป็นไปได้ในการควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียหรือสื่อสังคมออนไลน์ในกลุ่มบุคคลอายุต่ำกว่า 16 ปี
ราเดีย เซเซอร์ คาทีร์ซิโอกลู ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิเด็กของรัฐสภาตุรกี สำทับถึงการเพิ่มขึ้นของภาวะ “ออทิสติกเทียม” อย่างน่าตกใจ โดยภาวะออทิสติกเทียมที่มีทักษะการสื่อสารช้า การตอบสนองทางอารมณ์ลดลง และการเชื่อมต่อกับโลกภายนอกที่คับแคบ เป็นผลจากการใช้งานหน้าจอก่อนวัยอันควรหรือมากเกินไปในเด็กเล็ก
อนึ่ง ผลการศึกษาเยาวชนตุรกี ปี 2023 ซึ่งจัดทำโดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNPF) และสถาบันประชากรศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาเซทเตเป และสำรวจประชาชน 1,300 คน ใน 67 จาก 81 จังหวัดของตุรกี พบว่าร้อยละ 92 ของวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ภาพซินหัว : อีโมจิในข้อความบนโทรศัพท์มือถือในกรุงอังการาของตุรกี วันที่ 28 ก.ค. 66
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : english.news, Xinhua
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech