ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Secret Story | “ชิ้นส่วนที่หายไป” ในระบบการศึกษาแบบไทย ๆ


Lifestyle

20 ธ.ค. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | “ชิ้นส่วนที่หายไป” ในระบบการศึกษาแบบไทย ๆ

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2051

Secret Story | “ชิ้นส่วนที่หายไป” ในระบบการศึกษาแบบไทย ๆ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

"การศึกษาคือรากฐานในการพัฒนาประเทศและสร้างความเท่าเทียมทางสังคม" เป็นหลักการพื้นฐานที่ประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนยึดถือ แต่สำหรับประเทศไทย แม้เราจะได้ยินประโยคนี้จนคุ้นหู ทว่าความจริงที่ปรากฏกลับดูเหมือนเป็นคนละเรื่อง

ในรายการ The Last Jigsaw ตอน “การศึกษาแบบไทย ในศตวรรษที่ 21” เราจะได้รับรู้ความจริงหลายอย่างที่หากใครยังไม่เคยรู้ มันก็น่าจะสร้างความตกใจได้ไม่น้อย หรือหากใครเคยรู้แล้ว ข้อมูลเหล่านี้ก็คงยิ่งตอกย้ำว่าความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาของประเทศเรานั้นช่างฝังรากลึกและรุนแรงขึ้นทุกที โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “โรงเรียนขนาดเล็ก” (ที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน) ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 51% ของโรงเรียนทั้งประเทศ และโรงเรียนเหล่านี้ก็ต้องดำรงอยู่อย่างยากลำบากภายใต้ข้อจำกัดมากมาย ทั้งด้านงบประมาณ การขาดแคลนครู และความไม่เหมาะสมของระบบการประเมินผล

รากของปัญหาเริ่มจากระบบการจัดสรรงบประมาณแบบ one-size-fits-all ที่ให้เงินต่อหัวนักเรียนเท่ากันทุกโรงเรียน โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนการจัดการศึกษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย แทนที่จะสามารถดูแลเด็ก ๆ ได้อย่างละเอียดมีคุณภาพ กลับยิ่งทำงานได้ยากขึ้นเพราะได้งบประมาณน้อยตามจนไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการพื้นฐาน ทั้งที่ต้นทุนต่อหัวของโรงเรียนขนาดเล็กสูงกว่าโรงเรียนใหญ่มาก

ปัญหาการขาดแคลนครูก็เป็นอีกวงจรอุบาทว์ที่ซ้ำเติมสถานการณ์นี้ จากการศึกษาพบว่า โรงเรียนขนาดเล็กมักได้รับจัดสรรครูไม่เพียงพอ ทำให้ครูหนึ่งคนต้องรับผิดชอบการสอนหลายวิชา หลายระดับชั้น และยังต้องแบกรับภาระงานธุรการมากมาย สงผลให้ไม่มีเวลาพัฒนาการเรียนการสอน ครูที่มีประสบการณ์จึงมักย้ายออกเมื่อมีโอกาสที่ดีกว่าและทิ้งให้โรงเรียนเล็กต้องพึ่งพาครูบรรจุใหม่หรือครูอัตราจ้างที่ขาดประสบการณ์ ก่อปัญหาวนเวียนซ้ำซากอย่างไม่เห็นวี่แววแก้ไข

มาที่เรื่องมาตรฐานการประเมินผลก็ชวนปวดหัวไม่น้อยหน้า วิธีประเมินของรัฐที่เข้มงวดและใช้รูปแบบเดียวกันทั่วประเทศโดยไม่คำนึงถึงบริบทที่แตกต่างนั้นยิ่งเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ นักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็กและพื้นที่ห่างไกลมักได้รับผลการประเมินต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งก็นำไปสู่การตีตราและการลดทอนคุณค่าของโรงเรียนเหล่านี้ จนทำให้พวกเขาตกอยู่ในภาวะไร้ทางออกมากขึ้นไปอีก แทนที่จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างถูกจุด

สภาพโดยรวมทั้งหมดที่ว่ามาข้างตนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมายาวนานและเกิดซ้ำ ๆ ในภูมิทัศน์ของการศึกษาในประเทศไทย แม้เราจะได้ยินความพยายามเรื่องการปฏิรูปการศึกษามาหลายครั้ง แต่แทบจะกล่าวได้ว่ายังไม่เคยเห็นวิธีคิดและวิธีปฏิบัติที่ให้ผลถูกทิศทาง เป็นรูปธรรม และก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างแท้จริงเลย ซ้ำร้ายเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ช่องว่างที่มีอยู่แล้วยิ่งถูกถ่างให้ห่างกว่าเดิม เพราะมีผลการสำรวจชี้ว่าการเรียนรู้ของเด็กไทยถดถอยลงถึง 20-50% ในวิชาหลัก ขณะที่ทักษะทางสังคมและการปฏิสัมพันธ์ของเด็กก็ถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ

เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งก็คือ แม้จะมีความพยายามดึงเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุนการเรียนออนไลน์เพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ ต้องเรียนขาดตอนในช่วงหยุดโควิด แต่ความเป็นจริงคือจะมีก็แต่โรงเรียนที่มีความพร้อมทั้งด้านงบ อุปกรณ์ และบุคลากรเท่านั้นที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ได้ ขณะที่โรงเรียนที่ขาดแคลนแทบไม่มีโอกาสเข้าถึงนวัตกรรมการศึกษาใด ๆ และยิ่งพูดถึงความพร้อมของครอบครัวและตัวเด็กเองก็ยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำได้ชัด เพราะปัจจุบันเรามีเด็กไทยกว่า 1.1 ล้านคน หรือประมาณ 10-15% ของเด็กทั้งประเทศที่อยู่ในภาวะ “ยากจนพิเศษ” ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,044 บาท แต่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเดือนละ 4,000-9,000 บาท ไม่นับค่าเดินทาง เราจึงได้ยินข่าวเด็ก ๆ ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมากในช่วงโควิด และอีกมากในช่วงเวลาอื่น ๆ เพราะครอบครัวจำใจต้องให้ลูกไปช่วยทำงานหารายได้แทน

ดังที่เรากล่าวในย่อหน้าแรกว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการศึกษาเพราะรู้ดีว่ามันคือการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นทุนที่มีศักยภาพของสังคม แนวทางที่หลาย ๆ ประเทศใช้จึงมักเริ่มจากการปฏิรูประบบการจัดสรรงบประมาณให้คำนึงถึงความแตกต่างของบริบท โรงเรียนที่มีความท้าทายมากควรได้รับการสนับสนุนมากกว่า ควบคู่กับการพัฒนาระบบสนับสนุนครูอย่างจริงจัง ทั้งการลดภาระงานธุรการและการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

ในด้านการเรียนการสอน มีข้อเสนอจากหลายองค์กรระดับโลกว่า ถึงเวลาแล้วที่โรงเรียนและครอบครัวต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแก่เด็ก  ๆ ผ่านโครงงานที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ครูต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้ให้ความรู้” เป็น “ผู้ชี้แนะวิธีหาความรู้” และเปลี่ยนมาใช้ชุมชนเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่เพื่อให้เด็กได้สัมผัสทั้งศาสตร์ทางวิชาการและทักษะการประยุกต์ความรู้เหล่านั้นมาสู่ชีวิตจริงไปพร้อมกัน

และสำคัญที่สุดคือ นโยบายของรัฐต้องเลิกการกำหนดรูปแบบการศึกษาจากส่วนกลางหรือจากบนลงล่าง แต่มุ่งบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และภาคเทคโนโลยี ในการระดมทรัพยากรและความช่วยเหลือ โดยมีประชาชนในฐานะ “ทรัพยากรที่ทรงคุณค่า” เป็นศูนย์กลาง

The Last Jigsaw เผยให้เราได้เห็นว่า "ชิ้นส่วนที่หายไป" ในระบบการศึกษาไทยไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณ แต่คือความเป็นธรรมและโอกาสที่เท่าเทียม การลงทุนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการศึกษาจึงไม่ใช่ “การใช้จ่าย” แต่เป็น “การลงทุนในอนาคตของประเทศ” ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งถูกดึงรั้งไว้เท่าไหร่ สิ่งที่จะถดถอยที่สุดก็คืออนาคตของพวกเราทั้งประเทศนั่นเอง
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ระบบการศึกษาVIPAVIPAdotMeสารคดี VIPA
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด