ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เพราะอะไร ? “ใบต้นคริสต์มาส” จึงเปลี่ยนเป็นสีแดงในฤดูหนาว


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

25 ธ.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

เพราะอะไร ? “ใบต้นคริสต์มาส” จึงเปลี่ยนเป็นสีแดงในฤดูหนาว

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2085

เพราะอะไร ? “ใบต้นคริสต์มาส” จึงเปลี่ยนเป็นสีแดงในฤดูหนาว
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

อินเทรนด์วันคริสต์มาส ! เมื่อเทศกาลคริสต์มาสมาถึงหลายคนคงจะนึกถึง “ต้นคริสต์มาส” ที่เป็นต้นสนสูงใหญ่ ที่ถูกประดับประดาไปด้วยไฟสี ดาว ตุ๊กตา และของน่ารักมากมาย หลายคนต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสด้วยการตกแต่งอาคารบ้านเรือนด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่มีสีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลคริสต์มาส นั่นก็คือ สีเขียวและสีแดง

หนึ่งในต้นไม้ต้นเล็ก ๆ ที่นิยมนำมาเป็นไม้ประดับก็คือต้นคริสต์มาสนั่นเอง ด้วยความโดดเด่นของต้นไม้นี้ที่จะเปลี่ยนสีใบอ่อนหรือใบประดับ ที่อยู่บนสุดจากสีเขียวให้เป็นสีแดงเมื่อถึงฤดูหนาว และยังมีห้าแฉกอีกด้วย จึงมีชื่อเรียกว่า “Christmas star” หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่า  Lobster Flower หรือ Flame Leaf Flower ก็ได้เหมือนกัน โดยที่ชื่อจริง ๆ ของเจ้าต้นไม้นี้ก็คือ “Poinsettia” (พอยน์เซตเทีย) นั่นเอง ต้นไม้นี้มีเข้ามาในประเทศไทยมานานพอที่จะมีชื่อเรียกแบบไทย ๆ ว่า “ต้นสองฤดู” หรือ “โพผัน”

ต้นคริสต์มาส หรือต้น Poinsettia (พอยน์เซตเทีย)

สาเหตุที่ใบประดับของต้นคริสต์มาสสามารถเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงได้นั้น เกิดจากสารสีที่อยู่ใบไม้ที่เรียกว่า “Pigment” ใบไม้แต่ละใบจะมี 4 ชนิดของ Pigment ได้แก่

     1. คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) เป็นสารที่ทำให้ใบไม้มีสีเขียว

     2. แซนโทฟิลล์ (Xanthophylls) เป็นสารที่ทำให้ใบไม้มีสีเหลือง

     3. แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) เป็นสารที่ทำให้ใบไม้มีสีส้ม

     4. แอนโทไซยานิน (Anthocyanins) เป็นสารที่ทำให้ใบไม้มีสีแดง

ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ใบของต้นคริสต์มาสมีสีเขียวทั้งต้น เนื่องจากต้นคริสต์มาสต้องการสร้างคลอโรฟิลล์เป็นจำนวนมากเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ สีเขียวจึงมีมากที่สุด เพราะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้

เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ช่วงเวลากลางวันเริ่มสั้นลง ช่วงเวลากลางคืนยาวนานกว่าเดิม ต้นคริสต์มาสจึงได้รับแสงอาทิตย์ลดลง ใบของต้นคริสต์มาสจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศ ลดการสังเคราะห์แสง โดยการสร้างคลอโรฟิลล์ที่เป็นสารสีเขียวให้น้อยลง และสร้างสารสีแดงที่เรียกว่า “แอนโทไซยานิน” (Anthocyanins) ขึ้นมาในช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี เพื่อช่วยจัดการกับพลังงานที่ผลิตมากเกินหลังการสังเคราะห์แสง สีแดงนี้จึงเหมาะมากกับการรับมือกับแดดที่จัด และช่วงกลางวันที่สั้นเกินไปสำหรับต้นคริสต์มาส นอกจากต้นคริสต์มาสแล้ว ต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ก็มีการเปลี่ยนเป็นสีส้ม สีเหลือง หรือสีแดงด้วยเหมือนกัน เช่น ใบเมเปิล ใบหูกวาง เป็นต้น

ต้นคริสต์มาส หรือต้นพอยเซตเทีย (Poinsettia) ภาพจาก 123rf

ต้นคริสต์มาสหรือพอยน์เซตเทียนี้ จริง ๆ แล้วมีใบที่เปลี่ยนเป็นสีอื่น ๆ นอกจากสีแดงด้วย เช่น สีชมพู สีขาวครีม สีม่วง เป็นต้น ดอกของต้นคริสต์มาสจะเป็นกระจุกเล็ก ๆ เหนือใบ ไม่มีกลีบดอก สีไม่สะดุดตา ต้นคริสต์มาสนั้นมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกันไปมากกว่า 100 สายพันธุ์เลยทีเดียว

โดยถิ่นกำเนิดดั้งเดิมนั้น เชื่อกันว่าเป็นต้นไม้พื้นเมืองของอเมริกาใต้ แถบเม็กซิโก และกัวเตมาลา เข้ามาแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1828 โดยโจเอล โรเบิร์ตส พอยเซตต์ อดีตทูตสหรัฐอเมริกาประจำเม็กซิโก อยู่ในวงศ์ใกล้เคียงกับโป๊ยเซียนหรือโกสน ขนาดต้นมีความสูงตั้งแต่ 0.6 - 4 เมตร ต้นคริสต์มาสนั้น เติบโตได้ดีในสภาพอากาศและภูมิประเทศทางภาคกลางไปจนถึงภาคเหนือของไทย เพราะจะชอบสภาพอากาศแห้ง และอากาศเย็นในฤดูหนาว แต่ไม่ถึงกับเย็นจัด ไม่ชอบแดดแรง และไม่ชอบดินที่เปียกแฉะหรือการที่มีฝนตกบ่อยจนเกินไป นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติพิเศษในด้านการขจัดสารพิษในอากาศอีกด้วย


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : scijinks, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ต้นคริสต์มาสวันคริสต์มาสคริสต์มาสเทศกาลคริสต์มาสChristmasChristmas 2024Merry Christmas 2024Merry ChristmasPoinsettiaพอยน์เซตเทียวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด