ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Secret Story | จากการสังเกตสู่ความเข้าใจ: สารคดีในชุมชนชายขอบ


Lifestyle

26 ธ.ค. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | จากการสังเกตสู่ความเข้าใจ: สารคดีในชุมชนชายขอบ

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2090

Secret Story | จากการสังเกตสู่ความเข้าใจ: สารคดีในชุมชนชายขอบ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“3556” ในชื่อของสารคดีเรื่อง “Area 3556 เส้นแดนไม่(อ)ยากจน” มาจากตัวเลข 3,556 บาทซึ่งคือรายได้ต่อเดือนที่ถูกใช้ตัดเส้นความยากจนในจังหวัดกรุงเทพมหานคร หรือพูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นได้ว่า คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ คนใดมีรายได้ต่ำกว่าตัวเลขที่ว่านี้ จะถูกนับเป็น “คนจน” ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาหลากหลายด้านที่รัฐต้องช่วยเหลือ ตั้งแต่ปัญหาด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ และด้านการเข้าถึงบริการรัฐ 

Area 3556 เป็นสารคดีที่มุ่งนำเสนอวิถีชีวิตบางส่วนของคนกลุ่มดังกล่าวด้วยเป้าหมายที่จะปลุกกระตุ้นให้ผู้ชมได้ตระหนักรู้การมีตัวตนอยู่ของพวกเขา โดยผ่านการบอกเล่าของตัวละครสองนักศึกษาสาวผู้เดินทางเข้าไปสำรวจชุมชนที่อาศัยในเต็นท์และใต้สะพาน ซึ่งดิ้นรนต่อสู้อย่างเต็มที่เพื่อรักษาชีวิตให้รอดในเมืองใหญ่แห่งนี้

การถ่ายทำสารคดีในชุมชนชายขอบเช่นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ความยากของมันอยู่ตรงที่จะทำอย่างไรไม่ให้คนทำเผลอตกหลุมพรางของการสร้างภาพตัวแทนที่ตื้นเขิน เสนอมุมมองจากสายตาชนชั้นกลาง หรือหนักกว่านั้นคือการสร้าง "ความบันเทิงจากความยากจน" (poverty porn) ที่เน้นการประโคมภาพความทุกข์ยากเพื่อกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม ซึ่งเมื่อเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สารคดี ก็จะพบว่ามีคนทำหนังจำนวนไม่น้อยที่สามารถนำเสนอชีวิตของผู้คนชายขอบได้อย่างมีจริยธรรม มีศักดิ์ศรี และลุ่มลึก สามารถใช้หนังของตนเป็นพื้นที่ให้เสียงของบุคคลเหล่านั้นได้ดังขึ้นบนเงื่อนไขของพวกเขาเอง

หนึ่งในคนที่ผู้เขียนนึกถึงก็คือ หวังปิง คนทำสารคดีชาวจีนที่พิสูจน์ให้เห็นว่า กุญแจสำคัญของการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตผู้คนก็คือการใช้เวลาขลุกอยู่กับซับเจ็กต์อย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่อยู่เพื่อถ่ายทำ แต่เป็นการอยู่เพื่อทำความเข้าใจจังหวะชีวิต วิถีคิด และตรรกะในการดำรงอยู่ของพวกเขา การใช้เวลาร่วมกันอย่างอย่างยาวนานทำให้กล้องไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมและความสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างกับผู้ถูกถ่ายทำก็เติบโตขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อถึงจุดนั้น สิ่งที่ปรากฏบนจอจะไม่ใช่ภาพที่ถูกจัดฉาก แต่เป็นช่วงเวลาของชีวิตที่ดำเนินไปตามความเป็นจริง

ตัวอย่างผลงานเรื่องสำคัญของหวังปิงเกี่ยวกับชีวิตคนจนในเมืองก็คือ Tie Xi Qu: West of the Tracks (2002) สารคดีความยาว 9 ชั่วโมงที่ติดตามชีวิตคนงานและชุมชนย่านอุตสาหกรรมเสื่อมโทรมในเมืองเสิ่นหยาง ช่วงที่โรงงานกำลังทยอยปิดตัวลง หวังปิงใช้เวลาถ่ายทำกว่า 2 ปี บันทึกทั้งชีวิตในโรงงาน ชุมชนแออัด และครอบครัวที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จุดเด่นอยู่ตรงที่เขาไม่เร่งเร้าให้เกิดดราม่า แต่ค่อย ๆ เผยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคน พื้นที่ และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อทุกชีวิต

Dark Days (2000) สารคดีอเมริกันของ มาร์ก ซิงเกอร์ เป็นอีกตัวอย่างที่คนทำหนังกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ซิงเกอร์ใช้เวลาหลายปีอาศัยอยู่กับคนไร้บ้านในอุโมงค์รถไฟใต้ดินนิวยอร์ก โดยเขาไม่เพียงถ่ายทำ แต่ยังสอนวิธีให้ชาวชุมชนใช้กล้องและช่วยถ่ายทำด้วย ผลที่ได้คือสารคดีที่ไม่ได้เกิดจากมุมมองของคนนอกล้วน ๆ แต่เป็นการผสมผสานระหว่างสายตาของคนในกับคนนอก ภาพที่ปรากฏจึงซับซ้อนและลึกซึ้ง เราได้เห็นทั้งความยากลำบากและความเป็นชุมชน ทั้งการต่อสู้ดิ้นรนและการสร้างบ้านในพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่น่าอยู่

แนวคิดสำคัญของการทำสารคดีเช่นนี้ คือการที่คนทำหนังเฝ้าสังเกตซับเจ็กต์อย่างซึมลึก ด้วยความเข้าใจว่าทุกการกระทำของพวกเขาล้วนมีที่มาที่ไป ทุกการตัดสินใจล้วนมีเหตุผล แม้จะไม่ตรงกับตรรกะของชนชั้นกลางก็ตาม คนทำหนังจำเป็นต้องถอดตัวเองออกจากการเป็นผู้ตัดสินและเปิดใจรับฟังเรื่องราว ประกอบเข้ากับวิธีการทางเทคนิคที่สอดรับกัน อาทิ ใช้กล้องที่ไม่เรียกร้องความสนใจ ปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินไปโดยไม่เร่งเร้า ใช้เสียงธรรมชาติแทนดนตรีปรุงแต่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของสไตล์ แต่เป็นการแสดงจุดยืนทาง “จริยธรรมของคนทำสารคดี” เป็นยืนยันว่ามีความเคารพในความเป็นจริงที่กำลังถ่ายทอดอยู่นั้น

ความท้าทายอีกประการคือ การรักษาสมดุลระหว่างการนำเสนอความจริงกับการปกป้องศักดิ์ศรีของผู้ถูกถ่ายทำ บ่อยครั้งที่ความยากลำบากและความงดงามดำรงอยู่ด้วยกัน การเลือกที่จะนำเสนอด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปอาจทำให้ภาพที่ออกมาบิดเบือน คนทำจึงต้องตระหนักว่าแม้ความยากจนจะเป็นประเด็นสำคัญ แต่มันไม่ใช่เอกลักษณ์เดียวที่นิยามตัวตนของผู้คน

ท้ายที่สุด การสร้างสารคดีในชุมชนชายขอบไม่ใช่แค่การเล่าเรื่องความยากจน แต่เป็นการสร้างความเข้าใจว่าความยากจนและการถูกกีดกันทางสังคมส่งผลต่อชีวิตผู้คนอย่างไร เป็นการตั้งคำถามต่อโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้เห็นความซับซ้อนของชีวิตที่ดำรงอยู่นอกกรอบการรับรู้ของสังคมกระแสหลัก นี่คือความท้าทายและความรับผิดชอบที่ผู้สร้างสารคดีต้องแบกรับ

▶ ติดตามสารคดี Area 3556 เส้นแดนไม่(อ)ยากจน หลากหลายรอยยิ้มของคนสร้างตัว ในเมืองที่ต้องดิ้นรนให้มีชีวิตรอด... เมืองอันศิวิไลซ์ได้แบ่งผู้คนออกเป็นชั้น ๆ ตามความสามารถในการจ่าย และได้ผลักผู้คนจำนวนหนึ่งไปอาศัยอยู่รวมกันในชุมชนเฉพาะที่กลายเป็นดินแดนเร้นลับ สำหรับคนอื่น ๆ ไปโดยปริยาย

รับชมได้ทาง www.VIPA.me หรือ VIPA Application

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ความเหลื่อมล้ำความยากจนกรุงเทพมหานครVIPAVIPA Best DocumentaryVIPAdotMeสารคดีสารคดี VIPA
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด