ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“มิจฉาชีพ” มอง “เหยื่อ” อย่างไร ? เพราะอะไร “คนไทย” ถึงยังถูกหลอก


Verify

27 ธ.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

“มิจฉาชีพ” มอง “เหยื่อ” อย่างไร ? เพราะอะไร “คนไทย” ถึงยังถูกหลอก

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2092

“มิจฉาชีพ” มอง “เหยื่อ” อย่างไร ? เพราะอะไร “คนไทย” ถึงยังถูกหลอก
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

รายการสถานีประชาชน ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ล่าสุดได้จัดเสวนา ANTI CYBER Mission ปฏิบัติการต้านภัยไซเบอร์ ที่ได้เชิญหน่วยงานหลายหน่วยงาน ทั้ง กองบัญชาการตำรวจนครบาล , กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ และ ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) มาพูดคุยถึงภัยออนไลน์หลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน ซึ่ง Thai PBS Verify ได้สรุปการเสวนาดังกล่าวมาให้ได้เข้าใจกันง่าย ๆ ดังนี้

มุมมองของมิจฉาชีพต่อเหยื่อ

พล.ต.ต. ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล

พล.ต.ต. ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ออกมาระบุถึงแนวคิดของแก๊งคอลเซนเตอร์ หลังจับกุมได้ พร้อมกับนำตัวมาสอบปากคำ ซึ่งพบว่า ขบวนการเหล่านี้ไร้สำนึก ไม่คิดว่าตัวเองผิด และมองว่าตนเองไม่มาหลอก คนอื่นก็จะลงมือหลอกคนเหล่านี้อยู่ดี

กลุ่มคนเหล่านี้มองเหยื่อที่โอนเงินเป็นเพราะว่า "โง่เอง"

สาเหตุที่ประชาชนยังถูกหลอกอยู่ในปัจจุบัน

พล.ต.ต. นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.)

พล.ต.ต. นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ระบุว่า สาเหตุแรกคือเรื่องของการที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้พบว่าผู้เสียหายส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลสายด่วน 1441 One Stop Service ของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) หรือ ศูนย์ AOC ทำให้เห็นว่า ผู้ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารในจุดนี้มีจำกัด

ส่วนสาเหตุที่สองคือ รูปแบบที่คนร้ายใช้ในการเจาะใจเหยื่อ หลัก ๆ ยังคือเรื่องของจิตวิทยา เช่น ซื้อของราคาถูก แต่ในช่วงที่ซื้อและยังไม่ได้ของ กลับมีรางวัลที่มีมูลค่ามาล่อลวง ทำให้เหยื่อหลงเชื่อโอนเงินไปให้ และอาจถูกหลอกซ้ำว่าเงินที่โอนไปเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน โดยใช้เรื่องของความกลัวเข้ามาลวงเหยื่อ

ภาพคนร้ายแก๊งคอลเซนเตอร์ที่หลอกลวง "ชาล็อต ออสติน"

สิ่งสำคัญที่คนร้ายใช้คือการใช้ปลาเล็กล่อปลาใหญ่ ส่วนสาเหตุที่ทำไมคนถึงได้เชื่อนั้น เพราะเมื่อโอนเงินไปแล้วได้อะไรกลับมาจริง และอีกรูปแบบคือแพลตฟอร์มปลอม ที่เมื่อเข้าไปแล้วจะเห็นตัวเลขกำไร ซึ่งทำให้เกิดความโลภ และพยายามทำให้ได้ตามเงื่อนไขด้วยการโอนเงินเข้าไปเพิ่ม โดยหลังจากถูกหลอกไปแล้ว คนร้ายก็ยังใช้การหลอกว่าจะได้เงินคืน หากติดต่อไปตามช่องทางที่โฆษณา ซึ่งถือเป็นการหลอกลวงที่ซับซ้อนและต่อเนื่อง

ผู้ที่เป็นผู้เสียหาย มักไม่เข้าใจว่าตนเองกำลังคุยกับ อวตาร ซึ่งไม่มีตัวตน และเป็นใครก็ได้

ทั้งนี้มีหลักการเดียวที่ประชาชนควรยึดถือคือ คนที่เจอในโลกออนไลน์ ห้ามมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้ามีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้ระวังไว้ว่านั่นคือมิจฉาชีพ และตัดความสัมพันธ์ทันที

จดจำคำเหล่านี้ไว้หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อ

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จึงได้พัฒนาให้เกิดความจำในการป้องกันการตกเป็นเหยื่อด้วยการคิดคำพูด เช่น ทำอย่างไรเวลาที่คนโทรมา เราถึงจะรับมือกับมิจฉาชีพพวกนี้ได้ ด้วยการแนะนำว่า

1. หากเราไม่รู้จักไม่ต้องรับสาย โทรกลับปลอดภัยกว่า

2. ไม่รู้จักชื่ออย่ารับไลน์

3. จะโอนเงินรู้จักชื่อของผู้เป็นเจ้าของบัญชีปลายทางหรือไม่ ถ้าชื่อปลายทางไม่ตรงกันให้โทรไปติดต่อก่อนโอน

คีย์เวิร์ดเหล่านี้ถือเป็นคำง่าย ๆ ที่ประชาชนสามารถจดจำง่าย และจะช่วยแก้ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ไปได้เยอะ เพราะแก๊งคอลเซนเตอร์ก็จะไม่มีผู้รับสายไปในที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นคีย์เวิร์ดหลัก ๆ เพื่อให้ประชาชนนำไปรับมือ ซึ่งจะต้องพยายามทำให้เป็นคู่มือง่าย ๆ ให้ถึงประชาชนทั่วประเทศ

เตรียมออกกม.ให้ ธนาคาร-ผู้ให้บริการมือถือ รับผิดชอบ

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดนำโมเดลของสิงคโปร์มาออกกฎหมายในอนาคตอีกด้วย

ปัจจุบันคณะกรรมาธิการได้ศึกษาเพื่อจะออกกฎหมายในการบังคับให้ค่ายมือถือและธนาคารต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น หากไม่ทำตามเงื่อนไขขั้นต่ำที่ได้กำหนดเอาไว้

รวมถึงเงินของผู้เสียหายที่ถูกอายัดไว้ในธนาคาร จะถูกนำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้เสียหาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) รวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ได้มีการยกร่างขึ้นมาพิจารณา และเสนอรัฐบาลเพื่อออกเป็นพระราชกำหนดฉบับที่ 2 เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

มิจฉาชีพหลอกลวงหลอกลวงออนไลน์ถูกหลอกหลอกกดลิงก์วิดีโอคอลหลอกลวงหลอกคลิกหลอกลงทุนกลโกงกลโกงออนไลน์
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด