Thai PBS Verify พบเพจเฟซบุ๊กชื่อ "กรมจัดหางานใน ตปท" ลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กประกาศรับ "คนหางานครัว / เกษตร-ฟาร์ม / โรงงาน ออสเตรเลีย" แต่จากการตรวจสอบ พบมีการตั้งชื่อเพจเลียนแบบหน่วยงานราชการ รวมถึงใช้ภาพจากที่อื่นมาแอบอ้าง
แหล่งที่มา : Facebook
กระบวนการตรวจสอบ
จากการตรวจสอบพบว่า เฟซบุ๊กชื่อ "กรมจัดหางานใน ตปท" ลงโฆษณาระบุว่า "ครัว / เกษตร-ฟาร์ม / โรงงาน ออสเตรเลีย รอบนี้มีจำนวนจำกัด" ขณะที่ภาพที่ใช้โฆษณาระบุว่า รับสมัครงานบินไปทำงานต่างประเทศ (ออสเตรเลีย) งานครัว งานฟาร์ม โรงงาน รอบนี้มีจำนวนจำกัด วีซ่าแรงงานถูกกฎหมาย" ซึ่งพบว่าโฆษณาดังกล่าวทำให้มีผู้คนสนใจกดแสดงความรู้สึกเข้าไปถึง 2,300 ครั้ง รวมถึงสอบถามเข้าไปนับร้อยคนด้วยกัน
เราทำการตรวจสอบภายในเพจดังกล่าวพบว่า เพจนี้มีการแนะนำตัวว่าเป็นที่ปรึกษา ขณะที่สถานที่อยู่มีการระบุว่า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน, Bangkok, Thailand, Bangkok, Bangkok, Thailand, Bangkok, Bangkok, Thailand, Bangkok และเมื่อตรวจสอบไปยังความโปร่งใสของเพจพบว่า เพจดังกล่าวถูกสร้างเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา แต่ถูกเปลี่ยนชื่อจากเพจ "Shop store" มาเป็นชื่อ "กรมจัดหางานใน ตปท" เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาเพียงเท่านั้น
ขณะที่ภาพที่เพจดังกล่าวนำมาลงนั้น จากการตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ Google Lens เราพบว่า มีการนำภาพมาจากช่องยูทูบบริษัทจัดหางานไปประเทศไต้หวันแห่งหนึ่งมาลง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเพจ ซึ่งบริษัทดังกล่าวก็ไม่เกี่ยวข้องกับการหางานทำในประเทศออสเตรเลียแต่อย่างใด
เช่นเดียวกับภาพหน้าปกของเพจ ที่พบว่าเป็นการนำภาพหน้าปกของเพจเฟซบุ๊ก กรมการจัดหางาน มาใช้ด้วยเช่นเดียวกัน
เรายังได้ทดลองติดต่อสอบถามเข้าไปยังเพจดังกล่าว ถึงรายละเอียดการสมัครงาน ซึ่งมีการตอบกลับมาว่า "รอบโควตามีจำนวนจำกัด หากคุณพี่ต้องการสอบถามเพิ่มเติมติดต่อเจ้าหน้าที่ไลน์คลิกลิงก์ไลน์ แอดไลน์ติดต่อเจ้าหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่อธิบายรายละเอียดให้ฟังนะคะ ไม่เข้าใจตรงไหนถามเจ้าหน้าที่ได้เลยนะคะ คุณลูกค้าแอดไลน์ทักไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้เลยนะคะ"
อย่างไรก็ตามเมื่อเราขอให้ส่งข้อมูลทางข้อความเช่นเดิม เพจดังกล่าวได้ระบุว่า "ตรงนี้เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ นะคะ" ทำให้เราไม่ได้ข้อมูลของการไปทำงานในต่างประเทศจากเพจดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ที่ผ่านมาเคยมีการนำเสนอกรณีเพจหลอกทำงานต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศออสเตรเลียมาแล้วหลายครั้งด้วยกัน เช่นที่นี่ และ นี่
ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?
โพสต์ดังกล่าว ถือว่ามีผู้สนใจส่งข้อความสอบถามจำนวนมาก โดยมีผู้กดถูกใจกว่า 2,300 คน รวมถึงส่งข้อความเข้าไปแสดงความคิดเห็นมากกว่า 100 ครั้งด้วยกัน ซึ่งผู้ที่สอบถามส่วนใหญ่ต่างสนใจในรายละเอียดของการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
สำหรับกรณีล่าสุดที่มีการหลอกแรงงานไปทำงานต่างประเทศคือ กรณีแรงงานไทย 250 คน ที่เตรียมสัมภาระเพื่อเดินทางไปทำงานด้านการเกษตร ที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อคืนที่ผ่านมา (4 ม.ค.) แต่กลับไม่มีตั๋วเครื่องบิน และไม่มีข้อมูลการเดินทาง ทำให้แรงงานทั้งหมดพากันเข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา และสกลนคร ที่ถูกหลอกว่าจะได้ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล และ ออสเตรเลีย โดยพบว่า คนที่จะไปทำงานจะต้องเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 30,000–60,000 บาท หรือ 100,000-150,000 บาท รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 12 ล้านบาท
กรมการจัดหางาน ยืนยันเพจปลอมอย่าหลงเชื่อ
เรายังตรวจสอบไปยัง "กรมการจัดหางาน" กระทรวงแรงงาน ซึ่งถูกแอบอ้างชื่อจากเพจว่าชื่อ "กรมจัดหางานใน ตปท" โดย นาย สมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ยืนยันว่า เพจดังกล่าวมิได้มาจากส่วนราชการของกรมการจัดหางาน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีการแอบอ้างใช้โลโก้และชื่อกรมการจัดหางานไว้ที่หน้าเว็บไซต์โดยไม่ได้รับอนุญาต หากพบเห็นเพจดังกล่าวโปรดอย่าหลงเชื่อ เพราะอาจมีการขอข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปใช้ในทางมิชอบ หรืออาจถูกหลอกลวงจนเกิดความเสียหาย
ทั้งนี้ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ขอประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ขอให้ไปด้วย วิธีที่ถูกต้องตามกฎหมาย 5 วิธี ได้แก่ บริษัทจัดหางานจัดส่ง กรมการจัดหางานจัดส่ง เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง นายจ้าง ในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน และนายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงาน
พร้อมเน้นย้ำว่า ปัจจุบันยังไม่มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ออสเตรเลีย ทั้งภาครัฐและบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียน เนื่องจากผู้ที่จะเดินทางไปทำงานประเทศนี้ ต้องผ่านมาตรฐานตามเกณฑ์ ทั้งการทดสอบภาษาและทักษะอาชีพของออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ในระดับสูง โดยแรงงานที่เดินทางไปทำงาน ต้องแจ้งการเดินทางทุกครั้ง
ขณะที่ อิสราเอล ปัจจุบันมีการจัดส่งในรูปแบบ รัฐต่อรัฐในอาชีพด้านเกษตร ส่วนก่อสร้าง จัดส่งรูปแบบเอกชนต่อเอกชน ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานเท่านั้น
การโฆษณาจัดหางานต่างประเทศต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้
สำหรับการโฆษณาการจัดหางานต่างประเทศไม่ว่าทางสื่อใด ๆ ก็ตาม จะกระทำได้เฉพาะบริษัทจัดหางานต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานเท่านั้น โดยบริษัทฯจะต้องแจ้งข้อความที่จะโฆษณา ให้นายทะเบียนแห่งท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสามวัน ก่อนที่จะทำการโฆษณา และการโฆษณาให้มีระยะเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้ลงโฆษณา
ส่วนข้อความการโฆษณาการจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ อย่างน้อยต้องระบุตำแหน่งงาน จำนวนความต้องการจ้าง ระยะเวลาการจ้าง ชื่อนายจ้าง ประเทศ ชื่อบริษัทจัดหางาน และเลขที่ใบอนุญาตจัดหางาน ให้ชัดเจน ตามระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการโฆษณาการจัดหางาน พ.ศ. ๒๕๖๑และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
ทั้งนี้ ขอให้ผู้สนใจทำงานต่างประเทศ ตรวจสอบข้อมูลของบริษัทจัดหางานให้รอบคอบก่อน เพื่อป้องกันมิให้คนหางานหรือนายจ้าง/สถานประกอบการ ถูกหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ โดยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน โทร. 02-248-4792 หรือ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
มิจฉาชีพใช้จุดอ่อน "ค่าตอบแทนในประเทศไม่ตอบโจทย์"
นาย ชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ให้ความคิดเห็นถึงกรณีความต้องการไปทำงานในต่างประเทศของแรงงานไทยว่า ค่านิยมของการทำงานในต่างประเทศ ถือเป็นค่านิยมของแรงงานไทยมาเป็นเวลานาน โดยแรงงานส่วนใหญ่มักต้องการไปทำงานในต่างประเทศมากกว่าการทำงานในประเทศ แม้ว่าจะมีการเสียค่าใช้จ่ายมากเท่าไหร่ หรือมีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้า แต่แรงงานเหล่านี้ก็พร้อมที่จะเป็นหนี้เป็นสิน เพื่อแลกกับรายได้ที่จะนำกลับมา จึงกลายมาเป็นช่องทางให้กับมิจฉาชีพในการเข้ามาหลอกลวง
กรณีการถูกหลอกลวงไปทำงานในต่างประเทศ จึงสะท้อนถึงความเป็นอยู่ในประเทศ โดยเฉพาะค่าจ้าง ที่ยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการของแรงงานในประเทศ จึงเป็นตัวผลักดันให้แรงงานเหล่านี้ยินยอมทำทุกอย่าง เพื่อให้ได้ค่าจ้างที่สูงกว่า ซึ่งถ้าหากค่าจ้างภายในประเทศ สามารถที่จะยกระดับได้เท่าเทียมกับต่างประเทศ ก็เชื่อว่าไม่มีแรงงานคนไหนที่จะอยากออกไปทำงานนอกประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะการทำงานในต่างประเทศใช่ว่าจะสุขสบาย โดยจากที่ตนไปเยี่ยมเยียนแรงงานในต่างประเทศพบว่า แรงงานในต่างประเทศมีการทำงานที่หนักกว่าในประเทศไทย แต่หากมองในมุมของค่าตอบแทนแล้ว ก็ถือว่าได้มากกว่าประเทศไทยมาก และอีกมุมคือสามารถที่จะอวดคนรู้จักได้ว่า ตนเองทำงานในต่างประเทศ ทำให้มีหน้ามีตาในสังคม
การทำงานในต่างประเทศนั้น ก็ถือว่าไม่ได้ต่างกับการทำงานในประเทศไทย และบางงานก็หนักรวมถึงอันตรายกว่าในประเทศไทยอีกด้วย
อีกมุมหนึ่งคือในอดีตมิจฉาชีพมักจะหลอกเป็นกลุ่มละไม่เกิน 20-30 คน แต่ปัจจุบันพบว่ามีการหลอกลวงแรงงานกลุ่มใหญ่ถึงหลักร้อยคน ซึ่งทำให้เห็นว่า มิจฉาชีพมองเงินจากการหลอกลวงในจำนวนที่สูงมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้ทำครั้งเดียวให้คุ้ม ซึ่งถือว่าส่งผลให้กลุ่มคนในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะกลุ่มคนแรงงาน ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก เพราะเงินที่จะเดินทางไปก็ไม่ใช่ถูก ๆ โดยมีราคาหลายหมื่นถึงหลักแสนบาท และเงินที่ถูกหลอกไปเหล่านี้ ก็ล้วนแต่เป็นเงินที่กู้ยืมมา เพื่อหวังที่จะไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งหากได้เดินทางไปจริง ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะใช้หนี้หมด
ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐมีมาตรการเยียวยาหรือป้องกันออกมา และไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องระหว่างการหลอกลวงส่วนตัว เพราะคนเหล่านี้ถือเป็นประชาชนของประเทศไทย และเมื่อไปทำงานในต่างประเทศ ก็ล้วนแล้วแต่ส่งเงินกลับมาพัฒนาประเทศทั้งสิ้น