ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตือนภัย ! 5 ภัยออนไลน์ วายร้ายทำลายเด็ก ที่ผู้ปกครองต้องตรวจสอบ


Verify

9 ม.ค. 68

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

เตือนภัย ! 5 ภัยออนไลน์ วายร้ายทำลายเด็ก ที่ผู้ปกครองต้องตรวจสอบ

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2146

เตือนภัย ! 5 ภัยออนไลน์ วายร้ายทำลายเด็ก ที่ผู้ปกครองต้องตรวจสอบ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

พาไปรู้จัก 5 ภัยออนไลน์ วายร้ายทำลายเด็ก ที่ผู้ปกครองต้องตรวจสอบ จะมีเรื่องอะไรบ้างตามมาอ่านกันได้เลย

5 ภัยออนไลน์ วายร้ายทำลายเด็ก พล.ต.ต. ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวในเรื่องนี้ เมื่อ 9 ม.ค. 68 ว่า พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีความห่วงใยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ประกอบกับวันเสาร์ที่ 11 ม.ค. 68 ที่จะมาถึงนี้ เป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม ซึ่งเป็น “วันเด็กแห่งชาติ”

จึงขอเตือนภัยพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่มีบุตรหลานอยู่ในความดูแล ให้หมั่นตรวจสอบ และระมัดระวังบุตรหลานของท่าน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของภัยออนไลน์ ที่มีเป้าหมายหลักเป็นเด็กและเยาวชน ดังต่อไปนี้

girl-sitting-pillow-looking-mobile-phone-bedroom

1. การล่อลวงออนไลน์

คนร้ายสร้างความไว้วางใจกับเด็ก ผ่านเกมหรือสื่อสังคมออนไลน์ แล้วพยายามนัดพบตัวจริง เพื่อล่วงละเมิดทางเพศ

2. การหลอกถ่ายคลิปลามก

คนร้ายหลอกล่อเด็กให้ถ่ายภาพหรือคลิปลามกส่งให้กับคนร้าย จากนั้นนำภาพหรือคลิปลามกไปขาย หรือนำมาแบล็กเมล เรียกเอาเงินจากผู้ปกครอง

3. การกลั่นแกล้งทางออนไลน์

การที่เด็กถูกกลั่นแกล้งในสื่อสังคมออนไลน์ จากการโพสต์ข้อความหรือรูปภาพที่ทำให้เสียหาย

4. การหลอกลวงซื้อขายสินค้า

คนร้ายหลอกลวงให้เด็กโอนเงินซื้อสินค้า ผ่านเกมหรือสื่อสังคมออนไลน์ แล้วไม่ส่งของให้

5. การเข้าถึงเนื้อหาไม่เหมาะสม

การที่เด็กเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เช่น ความรุนแรง ภาพลามก การพนันออนไลน์ ซึ่งมักจะเกิดจากการคลิกโฆษณา หรือการค้นหาโดยไม่ตั้งใจ

sisters-lying-floor-with-phone-tablet

ชวน “เด็กไทย” รู้เท่าทัน ป้องกันภัยจากสื่อออนไลน์

Thai PBS Verify พาไปรู้จัก 5 วิธีที่จะช่วยให้บุตรหลาน มีประสบการณ์บนโลกออนไลน์ที่ดีและปลอดภัย ข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

1. ตั้งกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน  

พูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับบุตรหลานว่า พวกเขาควรสื่อสารอย่างไรกับใคร หรือใครบ้างที่จะสามารถเห็นเนื้อหาที่พวกเขาโพสต์ออนไลน์  

อธิบายให้บุตรหลานเข้าใจว่าสิ่งใดก็ตามที่เข้าไปอยู่บนโลกออนไลน์ เช่น รูปภาพ วิดีโอ คอมเมนต์ หรือสิ่งที่บุตรหลานแชร์กับผู้อื่น รวมถึงสิ่งที่ผู้อื่นโพสต์เกี่ยวกับตัวเขาหรือแชร์กับเขานั้น จะทิ้งข้อมูลร่องรอยของพวกเขาไว้อยู่เสมอ เด็ก ๆ จึงควรไตร่ตรองถึงสิ่งที่จะพูดและทำบนโลกออนไลน์ เพื่อให้ “รอยเท้าดิจิทัล” (Digital Footprint) ที่หลงเหลือไว้นั้นเป็นไปในทางที่ดี

ให้บุตรหลานเข้าใจว่าการพูดคุยแบบกีดกันเลือกปฏิบัติ หรือการพูดคุยอื่นใดที่ไม่เหมาะสมนั้น เป็นสิ่งที่รับไม่ได้อย่างยิ่ง และไม่ควรมีการเผยแพร่ข่าวลือ หรือแชร์เรื่องราวหรือรูปภาพที่สร้างความเจ็บปวดและอับอายให้แก่กัน สิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องตลกล้อเล่นกัน อาจสร้างความเจ็บปวดแสนสาหัสสำหรับคนอื่นได้

หากลูก ๆ ของคุณเจออะไรบนโลกออนไลน์ที่ทำให้พวกเขารู้สึกเสียใจ ไม่สบายใจ หรือหวาดกลัว บอกให้พวกเขารีบมาบอกคุณ หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ในทันที  

คนที่คุกคามหรือข่มเหงทางโลกออนไลน์มักเป็นคนที่เด็ก ๆ รู้จัก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่จะสอนให้ลูก ๆ ระวังตัว และรู้วิธีรับมือกับพฤติกรรมสร้างปัญหาที่พวกเขาอาจจะเผชิญบนโลกออนไลน์

และให้ลูก ๆ มีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าควรใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างไร เมื่อไหร่ และ ที่ไหน

mother-kid-with-phone


2. ใช้เทคโนโลยีเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็ก ๆ  

ตรวจสอบว่าอุปกรณ์ของบุตรหลานมีการอัปเดตและใช้ซอฟต์แวร์เวอร์ชันล่าสุด และมีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว โดยจำกัดการอนุญาตเก็บข้อมูลส่วนตัวให้น้อยที่สุด เพื่อคนอื่นจะมองไม่เห็นข้อมูลที่ไม่ต้องการแสดงให้เห็น

ช่วยให้บุตรหลานรู้จักการปกป้องรักษาข้อมูลส่วนตัว หากการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวนั้นไม่มีความปลอดภัย ใคร ๆ ก็สามารถเห็นข้อมูลดังกล่าวได้

ปิดกล้องเว็บแคมเมื่อไม่ได้ใช้งาน และสำหรับเด็กเล็กแล้ว การตั้งค่าระบบควบคุมของผู้ปกครองเช่น การค้นหาแบบปลอดภัย ช่วยให้ประสบการณ์ในโลกออนไลน์ของบุตรหลานเป็นไปในทางที่ดีได้  

ระมัดระวังเรื่องของฟรีบนออนไลน์ แม้แต่สิ่งที่เกี่ยวกับการศึกษา หากมีการขอให้บุตรหลานส่งรูปภาพหรือชื่อเต็มของพวกเขาเข้าระบบ ต้องแน่ใจว่าเป็นเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้

3. หมั่นใช้เวลาบนโลกออนไลน์กับบุตรหลาน

คอยหาโอกาสให้บุตรหลานได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีและปลอดภัยบนโลกออนไลน์กับเพื่อน ๆ  ครอบครัว และตัวเราเอง การได้ติดต่อกับคนอื่น ๆ อาจเป็นโอกาสที่ดีที่คุณจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบุตรหลานเรื่องการสื่อสารติดต่อบนออนไลน์อย่างมีน้ำใจและเข้าอกเข้าใจ

สอนบุตรหลานให้รู้จักและหลีกเลี่ยงเนื้อหาที่เป็นข้อมูลที่ผิด ข้อมูลลวง เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับวัย หรือเนื้อหาที่อาจก่อความกังวลใจหรืออันตรายในรูปแบบอื่นใด โดยควรแนะนำแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ให้แก่เด็ก ๆ  

เด็ก ๆ อาจเห็นโฆษณาที่ส่งเสริมอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การเหมารวมทางเพศ หรือ เนื้อหาที่ไม่เหมาะกับวัย ควรช่วยบุตรหลานให้รู้จักแยกแยะโฆษณาออนไลน์ และใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้ร่วมกันว่าเนื้อหาเชิงลบที่เห็นเหล่านี้มีอะไรที่ไม่ถูกต้องบ้าง  

ใช้เวลากับลูกเพื่อหาแอปพลิเคชัน เกม และสิ่งบันเทิงออนไลน์ต่าง ๆ ที่เหมาะกับวัย หมั่นคอยระวังแอปพลิเคชันที่อาจมีเนื้อหาที่เป็นอันตราย หรือก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัว

mother-with-son

4. เป็นต้นแบบนิสัยออนไลน์ที่ดี  

เสริมสร้างพฤติกรรมออนไลน์ที่ดีให้บุตรหลาน โดยทำตัวเป็นแบบอย่าง ไตร่ตรองให้รอบคอบถึงสิ่งที่คุณจะทำเป็นตัวอย่าง รวมทั้งการแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับบุตรหลานบนโลกออนไลน์ ซึ่งรวมถึงรูปภาพและวิดีโอของพวกเขา

ส่งเสริมให้ลูกมีน้ำใจในโลกออนไลน์ และคอยสนับสนุนเพื่อน ๆ และครอบครัว โดยการส่งข้อความหรืออิโมจิเชิงบวกให้  

หากมีชั้นเรียนออนไลน์ ควรส่งเสริมเด็ก ๆ ให้รู้จักเคารพผู้อื่นและระมัดระวังสิ่งที่อาจถูกเห็นได้ผ่านกล้องเว็บแคมเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว  

ต้องตื่นตัวหากบุตรหลานมีท่าทีขุ่นหมองใจจากโลกออนไลน์ หรือมีท่าทีปกปิดกิจกรรมออนไลน์ของตัวเอง หมั่นให้ความมั่นใจแก่บุตรหลานว่าการถูกข่มเหงหรือคุกคามนั้นไม่ใช่ความผิดของบุตรหลาน และไม่ต้องเก็บเรื่องเหล่านี้เป็นความลับ

ทำความคุ้นเคยกับนโยบายการเรียนรู้ดิจิทัลของทางโรงเรียน คอยติดต่อศูนย์ข้อมูลช่วยเหลือเพื่ออัปเดตเกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ของเด็ก ๆ รวมทั้งช่องทางการแจ้งเหตุกลั่นแกล้งรังแกบนโลกออนไลน์ และการแจ้งเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

5. ปล่อยให้เด็ก ๆ ได้สนุกสนานและแสดงออก  

การใช้เวลาบนโลกออนไลน์อาจเป็นโอกาสที่ดียิ่งสำหรับบุตรหลานในการปลอดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้ ได้ส่งเสียงแบ่งปันมุมมองและสนับสนุนประเด็นต่าง ๆ ที่มีความสำคัญกับพวกเขา  

ส่งเสริมให้บุตรหลานใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตเพื่อขยับเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น วิดีโอออกกำลังกายออนไลน์สำหรับเด็ก และวิดีโอเกมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย

อย่าลืมรักษาความสมดุลระหว่างกิจกรรมบนโลกออนไลน์ กับกิจกรรมสันทนาการออฟไลน์และวิถีชีวิตในโลกความเป็นจริง เพื่อสมดุลที่ดีในทุกด้านของชีวิต

kids-with-devices-indoors

ขณะที่ “ดร.นพ.ไพโรจน์  เสาน่วม” รักษาการ ผอ.สำนักสร้างเสริมระบบสื่อ และสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สสส. ให้ความรู้ในเรื่อง พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสอนให้ลูกหลาน รู้เท่าทันภัยจากการใช้สื่อออนไลน์ได้ง่าย ๆ ด้วย 8 ข้อ ดังนี้

     1. สอนให้เด็กจัดการตัวตนและชื่อเสียงออนไลน์ รับผิดชอบต่อการกระทำบนโลกออนไลน์
     2. สอนให้ใช้เวลาออนไลน์อย่างพอเหมาะพอดี ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การงาน และชีวิตด้านอื่น
     3. สอนให้ยืดหยุ่น เข้มแข็ง รับมือกับการกลั่นแกล้งได้ดี
     4. สอนให้รักษาความปลอดภัย ตั้งรหัสผ่าน ป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ และการโจมตีระบบ
     5. สอนให้รักษาความเป็นส่วนตัว ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์
     6. สอนให้คิดวิเคราะห์ สืบค้น แยกแยะ ไม่เชื่อทุกอย่างที่เห็นหรือรับมา
     7. สอนให้ตระหนักการกระทำบนโลกออนไลน์ ย่อมมีร่องรอยให้ตามสืบตามตัวได้เสมอ
     8. สอนให้เข้าใจให้อภัย เห็นอกเห็นใจคนอื่น บริหารจัดการอารมณ์ตนเองบนโลกออนไลน์

ทั้งนี้ หากบุตรหลานของท่านตกเป็นเหยื่อ หรือได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งความออนไลน์ได้ที่ เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือ สายด่วน 1441 ได้ ตลอด 24 ชั่วโมง


📌อ่าน : ทาสหมา - ทาสแมวระวัง ! อาจโดนหลอกซื้อภาพสัตว์เลี้ยง

📌อ่าน : ตำรวจ “วิดีโอคอล” ให้ “โอนเงิน” มาตรวจสอบ มิจฉาชีพแน่นอน

📌อ่าน : เตือนภัย ! “มิจฉาชีพ” หลอกลวงทาง TikTok จำไว้..ตำรวจไม่รับแจ้งความทาง TikTok

📌อ่าน : เข้าใจให้ตรงกัน ! ไม่ควรวางถังแก๊สหุงต้ม LPG นอนกับพื้น

📌อ่าน : สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ! “ไก่” ไม่ได้โตเร็ว เพราะใช้ฮอร์โมนเร่ง

📌อ่าน : รวยผิดวิธี ไม่ถึง 10 ปี ได้เป็นผู้ต้องหา (ฉ้อโกงประชาชน, ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ)


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ตรวจสอบข่าวปลอมคัดกรองข่าวจริง กับ Thai PBS Verify

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภัยออนไลน์เตือนภัยหลอกลวงมิจฉาชีพวันเด็กแห่งชาติThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Cyber Security CybersecurityThai PBS Verify
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด