"เด็กสมัยนี้ติดจอกันหมดแล้ว..." เป็นคำบ่นที่เราได้ยินกันจนชินหู ซึ่งสะท้อนความกังวลของผู้ใหญ่ที่มองเห็นเด็ก ๆ จมดิ่งอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนตั้งแต่เล็กแต่น้อย
สารคดีเรื่อง Kids on Tech พาเราเดินทางไปทั่วโลก ตั้งแต่อเมริกาไปจนถึงญี่ปุ่น เพื่อไขความกระจ่างว่า เทคโนโลยีกำลังหล่อหลอมเด็ก ๆ ของเราอย่างไรกันแน่ ผ่านการสัมภาษณ์ทั้งนักออกแบบจากกูเกิล นักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง และ แม็ตต์ ริคเทล นักข่าวจากนิวยอร์กไทม์ส ผู้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับโรงเรียนในซิลิคอนวัลเลย์จนสร้างความตื่นตัวไปทั่วโลกมาแล้ว
“สมาร์ทโฟนรบกวนพัฒนาการของสมอง" น่าจะเป็นประโยคข้อเท็จจริงที่จริงแท้แน่นอน แต่รบกวนอย่างไรล่ะ มีบทความชื่อ 'We feel we've lost our kids to smartphones' ใน BBC News ให้ข้อมูลไว้ว่า จากการทดลองที่โรงเรียน The Stanway School ในอังกฤษที่ให้นักเรียนวางมือถือเป็นเวลา 21 วัน ผลลัพธ์นั้นน่าสนใจมาก ๆ เพราะพวกเขาได้พบว่า เด็ก ๆ มีความวิตกกังวลลดลงร้อยละ 17 อาการซึมเศร้าหายไปร้อยละ 18 ความจำดีขึ้นร้อยละ 3 และนอนหลับได้เพิ่มขึ้นวันละ 1 ชั่วโมงเลยทีเดียว
นักเรียนหญิงคนหนึ่งที่เข้าร่วมการทดลองนี้ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนแรกเธอคิดว่าการไม่มีโทรศัพท์ติดมือ “คงทำให้ฉันต้องขาดใจตายแน่” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ เธอกลับรู้สึกโล่ง มีสมาธิเรียนหนังสือขึ้น และกล้าคุยกับเพื่อนมากขึ้น ขณะที่นักเรียนหญิงอีกคนหนึ่งเสริมว่า แม้เธอจะคิดถึงการแชทกับเพื่อน แต่กลับไม่ได้คิดถึง TikTok หรือ Instagram เลย
เรายังเจอคำอธิบายและข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพิษภัยของเทคโนโลยีต่อเด็กในอีกหลายแหล่ง เช่น ในบทความ 'Teaching kids to be curious about technology' (เว็บไซต์ https://akidsco.com/) นักมานุษยวิทยาด้านเทคโนโลยีชื่อ แอมเบอร์ เคส อธิบายถึง "สิ่งเร้าเหนือธรรมชาติ" ในโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นสีสันสดใส ภาพเคลื่อนไหวรวดเร็ว เสียงกระตุ้นต่อเนื่อง ซึ่งล้วนแต่ปลุกเร้าสมองของผู้ใช้อย่างรุนแรงจนเกิดความรู้สึกว่ากิจกรรมปกติดูจืดชืดไปหมด หรือในบทสัมภาษณ์ 'Preparing Kids for the Digital World: Insights from Diana Graber') ไดแอนา เกรเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้เท่าทันดิจิทัลก็แนะนำว่า แทนที่จะปล่อยให้ลูก ๆ ใช้เทคโนโลยีตามใจชอบ พ่อแม่ควรสร้าง "ทางขึ้นดิจิทัล" ให้ลูก เช่น สำหรับเด็กเล็กอาจแค่เริ่มจากการให้ใช้วิดีโอคอลกับครอบครัว แล้ว ค่อยๆ พัฒนาสู่การใช้งานที่ซับซ้อนขึ้นตามวัย โดยเธอเน้นว่าเด็กที่มีทักษะทางสังคมและอารมณ์ดีในโลกจริงนั้นมักรับมือกับความท้าทายในโลกออนไลน์ได้ดีกว่า
แต่การใช้เทคโนโลยีมีแต่ผลเสียต่อเด็ก ๆ จริงหรือเปล่านะ
นีร์ อายัล นักวิจัยและผู้เขียนหนังสือ Hooked ได้รวบรวมสถิติที่น่าสนใจไว้ว่า ในช่วงที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994-2015 ผลสำรวจพบว่าปัญหาวัยรุ่นหลายอย่างลดลงอย่างน่าประหลาดใจ เช่น อัตราการก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของเยาวชนลดลงถึงร้อยละ 75 การใช้ยาเสพติดในกลุ่มนักเรียนมัธยมต้นและปลายอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 40 ปี และอัตราการตั้งครรภ์ในวัยเรียนก็ลดลงจนถึงจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า อัตราการจับกุมเยาวชนในแคลิฟอร์เนียลดลงถึงร้อยละ 80 คดีฆาตกรรมลดลงร้อยละ 85 และการใช้อาวุธปืนลดลงร้อยละ 75!
แล้วตกลงเราต้องรู้สึกอย่างไรกับทั้งหมดนี้กันแน่ อายัลอธิบายต่อโดยอ้างอิงถึงบทความของ ดร.อาบิเกล วิลส์ นักประวัติศาสตร์จากออกซฟอร์ดที่เขียนไว้ในนิตยสาร Slate ว่า "ทุกยุคสมัยมักจะเชื่อว่ากำลังเกิด 'วิกฤต' เกี่ยวกับพฤติกรรมเยาวชนชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราไม่ใช่คนรุ่นแรกหรอกนะที่กังวล และความกลัวของเราก็ไม่ต่างจากคนรุ่นก่อน ๆ เลยด้วย" (เธอยกตัวอย่างน่าสนใจ เช่น ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1565 โน่น เคยมีนักวิทยาศาสตร์ชาวสวิสเตือนว่า การอ่านหนังสือจะทำให้มนุษย์เกิดความสับสนระดับเป็นอันตราย หรือในยุค 1930 นิตยสาร Gramophone ก็เคยเขียนแสดงความกังวลว่า วิทยุจะทำให้เด็ก ๆ เกิดอาการนอนไม่หลับกระสับกระส่าย เป็นต้น)
คำตอบของเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นคำว่า “การใช้เทคโนโลยีอย่างพอดี” นั่นเอง ทางออกของพ่อแม่จึงน่าจะไม่ใช่การปิดกั้นลูกจากเทคโนโลยีไปเสียเลย แต่คือการเตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับโลกดิจิทัล และคำว่าพร้อมในที่นี้ก็อาจจะไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องการจำกัดเวลาว่าให้ใช้วันละเท่านั้นเท่านี้นาทีชั่วโมง แต่คือการสนับสนุนให้เด็ก ๆ ค้นพบประโยชน์ที่แท้จริงของการใช้มันอย่างสร้างสรรค์ เปิดโลกทัศน์ นำไปสู่การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และเป็นหนทางให้ได้เรียนรู้ผู้คนหรือสังคมที่กว้างขวางขึ้นพื่อนำไปสู่การเกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในที่สุด
เทคโนโลยีจึงไม่ใช่ทั้งยาวิเศษหรือยาพิษ แต่มันคือเครื่องมือที่เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้ให้เป็น
▶ ติดตามสารคดี Kids on Tech ทุกวันนี้ครูและผู้ปกครองทั่วโลกต่างพบความลำบาก เมื่อช่วงโควิดบีบให้เด็ก ๆ ยึดติดกับหน้าจอ ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากกว่าที่เคยเป็นมา สารคดีเรื่องนี้ จะพาไปดูผลกระทบต่อร่างกายและสมอง ที่กำลังพัฒนาของเด็ก ๆ
รับชมได้ทาง www.VIPA.me หรือ VIPA Application