ภาพ “ไฟป่า” ครั้งใหญ่ที่แคลิฟอร์เนีย เป็นข่าวที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ ขณะที่ประเทศไทย ก็เพิ่งประสบเหตุไฟป่าที่เขาใหญ่เช่นกัน
จากกรณีไฟป่าแคลิฟอร์เนียสู่เขาใหญ่และย้อนกลับไปไม่นานกับกรณีไฟป่าดอยสุเทพ Thai PBS ชวนรู้จักศาสตร์ที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับไฟป่าเหล่านี้อย่าง วิทยาศาสตร์ของไฟป่า (Wildfire) เพื่อเข้าใจภาพรวมของสาเหตุ ผลกระทบและวิธีรับมือ
วิทยาศาสตร์ของไฟป่า คืออะไร ?
ปัญหาไฟป่าในไทยมีมาอย่างยาวนาน การศึกษาเกี่ยวกับไฟป่ามีศาสตร์เฉพาะตัวที่เรียกกันว่า วิทยาศาสตร์ของไฟป่า คือการศึกษาเกี่ยวกับไฟไหม้ที่เกิดในป่าในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งสาเหตุของไฟป่า พฤติกรรมการเกิด ผลกระทบ การรับมือ ไปจนถึงการคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อเตรียมการ
ไฟป่า เกิดได้จากทั้งจากฝีมือมนุษย์ และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือทั้งสองสาเหตุร่วมกัน โดยมีสิ่งแวดล้อมอันเป็นเงื่อนไขหลักคือสภาวะ “ร้อน” และ “แห้ง” จึงทำให้ไฟป่าส่วนใหญ่เริ่มเกิดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงฤดูร้อน และหมดไปในช่วงฤดูฝน
รูปแบบการลุกลามเกิดจากจุดเล็ก ๆ ก่อนลามผ่านเชื้อไฟไปตามทิศทางของกระแสลม โดยไฟป่าจะลามในพื้นที่ราบได้ช้ากว่าในที่ลาดชัน เนื่องจากธรรมชาติของอากาศร้อน ไฟ รวมถึงสะเก็ดไฟจะขึ้นสู่ที่สูง ยิ่งป่าใหญ่ ชัน แห้ง มีลมแรง ยิ่งทำให้ไฟลุกลามเร็ว
วิทยาศาสตร์ของไฟป่ามีการศึกษาถึงทฤษฎีการเกิดไฟ ขณะการเกิดไฟตามปกติจะใช้ “สามเหลี่ยมแห่งไฟ” มาอธิบาย ตัวไฟเกิดจาก 3 สิ่งมารวมกันได้แก่ 1. เชื้อเพลิง 2. ความร้อน 3. ออกซิเจน แต่วิทยาศาสตร์ของไฟป่าพยายามอธิบายพฤติกรรมของการเกิดไฟป่า “สามเหลี่ยมพฤติกรรมแห่งไฟป่า (wildland fire behavior triangle) ซึ่งประกอบด้วย
1. เชื้อเพลิง
2. ลมฟ้าอากาศ
3. ภูมิประเทศ
ทั้งนี้ วิทยาศาสตร์ของไฟป่ามีส่วนช่วยในการค้นหาสาเหตุของการเกิดไฟป่าได้ด้วย โดยไฟป่าตามธรรมชาติมักจะเกิดช่วงบ่าย มีลักษณะการเกิดเป็นหย่อม ๆ ขณะที่ไฟป่าที่เกิดจากด้วยฝีมือมนุษย์นั้น จะเกิดหลายแห่งพร้อมกันอย่างไม่เลือกช่วงเวลา และมีลักษณะการลุกลามเป็นทางยาว
ผลกระทบระยะยาวจากไฟป่า ลุกลามขนาดไหน ?
ไฟป่าสร้างผลกระทบมากมายโดยส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างใหญ่หลวง การศึกษาเกี่ยวกับไฟป่าสามารถแบ่งได้หลายแบบด้วยกัน ทั้งผลกระทบจากควันไฟต่อสุขภาพ ผลกระทบของไฟป่าต่อทะเล ต่อสัตว์ป่า ต่อระบบนิเวศ โดยแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน
1. ผลกระทบต่อบรรยากาศ
ทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก เกิดฟ้าฝนจากไฟป่า ท้องฟ้าเป็นสีส้มจากฝุ่นละออง ไฟป่าขนาดใหญ่ส่งผลให้เกิดความร้อน ชื้นและกระแสลมทำให้เกิดพายุรุนแรงตามมาได้ ฝุ่นละอองทำให้อากาศมีคุณภาพลดลง และทำให้อุณหภูมิของโลกลดลงได้อีกด้วย
2. ผลกระทบต่อดิน
ไฟป่าทำให้ดินผุพังได้ง่ายขึ้น ค่าความเป็นกรด - เบส ของดินเปลี่ยนไป ทำให้เกิดคาร์บอนสะสมในดินเป็นปริมาณมาก ส่งผลต่อแร่ธาตุหรือคุณภาพของดิน ซึ่งจะส่งผลต่อไปถึงความหลากหลายของพันธุ์พืชอีกด้วย
3. ผลกระทบต่อแหล่งน้ำ
ตะกอนหน้าดินถูกกัดเซาะได้ง่าย ทำให้เกิดน้ำขุ่น และเกิดน้ำท่วมได้ง่าย ปริมาณแร่ธาตุในแหล่งน้ำแปรปรวนจนเกิดความผิดปกติในน้ำอย่างการเติบโตของสาหร่ายที่ผิดปกติบางประเภท หรือปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication) หรือสาหร่ายสะพรั่ง
4. ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต
ความร้อนและฝุ่นควันเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใกล้ ทั้งยังทำลายความอุดมสมบูรณ์ของจุลินทรีย์ เห็ดรา พืช สัตว์และระบบนิเวศ ในส่วนของฝุ่นควัน สามารถแพร่กระจายได้ไกล ส่งผลทางสุขภาพของผู้คน โดยเฉพาะการทำงานของระบบทางเดินหายใจและระบบหลอดเลือด
วิทยาศาสตร์ของไฟป่า รับมืออย่างไร ?
การรับมือไฟป่ามีวิธีหลัก ๆ อยู่ 3 วิธีด้วยกัน โดยใช้ศาสตร์ความรู้ในการทำความเข้าใจไฟป่ามาประยุกต์ใช้ในการรับมือ
การตรวจจุดความร้อน (Hot spot) ก่อนจะเกิดไฟป่า มักจะเกิดจากจุดความร้อน ปัจจุบันจึงมีการตรวจดูจุดความร้อนจากดาวเทียมและส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเพื่อทำการดับไฟก่อนลุกลาม
การชิงเผา (early burning) เป็นการเผาซากใบไม้ที่เสี่ยงจะก่อให้เกิดไฟป่า วิธีการนี้เคยนิยมใช้ในต่างประเทศ เนื่องจากเชื่อกันว่าสามารถลดการเกิดไฟป่าได้ แต่ผลการศึกษาในเวลาต่อมาพบว่า แนวคิดนี้ยังคงเป็นถกเถียงกันอยู่ อย่างไรก็ตาม การชิงเผายังใช้ในการควบคุมไฟป่า โดยชิงเผาเชื้อเพลิงในพื้นที่โดยรอบไฟเสียก่อนที่จะลุกลามต่อ
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เนื่องจากลักษณะของพื้นที่ป่าและภูมิอากาศถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดไฟป่าได้ การเฝ้าระวังในช่วงเวลาที่เหมาะสม จัดเตรียมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือ จะเป็นการช่วยลดการเกิดไฟป่าหรือความเสียหายลงได้
วิทยาศาสตร์ของไฟป่ายังมีการศึกษาในหลากหลายแง่มุม ทั้งการพัฒนาอุปกรณ์ใหม่ ๆ ในการรับมือหรือดับไฟป่า รวมถึงเทคโนโลยีในการป้องกัน แต่ปัญหาไฟป่ามีสาเหตุที่ซับซ้อนและก่อผลเสียร้ายแรงต่อทุกคนได้ แม้ไฟป่าจะฟังดูเหมือนเรื่องไกลตัวก็ตาม การตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาไฟป่าจึงมีส่วนที่จะช่วยให้เกิดการป้องกันมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง
- wildlife.ca.gov
- www.ornl.gov
- wfca.com