ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จุดเดือดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก เมื่อระเบียบโลกแบบเดิมล่มสลาย


รอบโลก

13 ม.ค. 68

มินนี่ นัฐชา กิจโมกข์

Logo Thai PBS
แชร์

จุดเดือดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก เมื่อระเบียบโลกแบบเดิมล่มสลาย

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2161

จุดเดือดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก เมื่อระเบียบโลกแบบเดิมล่มสลาย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI
  • จับตานโยบาย “ทรัมป์ 2.0” เขย่าอนาคตเศรษฐกิจโลก ไทยต้องปรับตัวให้เท่าทัน และปรับตัวกับรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์
  • ผู้เชี่ยวชาญชี้ “ประวัติศาสตร์ย้อนกลับมาและเริ่มต้นใหม่” ประเด็นจีน-ไต้หวัน อาจเป็นจุดที่ดึงมหาอำนาจเข้าสู่ความขัดแย้ง 
  • ผู้คุมเทคโนโลยีกุมอำนาจ “เอไอ” เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แม้ว่าจะนำมาซึ่งโอกาส แต่ก็ซ้ำเติมช่องว่างและความไม่เท่าเทียมในสังคม
  • สงครามข่าวสารอาจบานปลาย กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จับตา 3 ขั้วอำนาจโลก เมื่อระเบียบโลกแบบเดิมล่มสลาย 
     

“หากปี 2024 ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งการเลือกตั้ง ปี 2025 นี้ ก็เป็นปีแห่งคำถาม” 

นี่คือประโยคที่ World Economic Forum รายงาน พร้อมชี้ว่า 2025 จะเป็นปีที่ผู้นำโลกต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทาย ทั้งสงครามที่ยืดเยื้อ ความเคลื่อนไหวทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายจุดที่ยังไร้จุดจบ เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในขณะที่องค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ ไม่สามารถเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหาที่เรื้อรังได้ 

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน เข้าร่วมการประชุมประจำปีของ World Economic Forum ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2024

เดือนมกราคม เป็นการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์สมัยที่สอง ขณะที่ทั่วโลกจับตาว่า “ทรัมป์” จะแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อ และชุบชีวิตนโยบาย “อเมริกันต้องมาก่อน” ได้จริงหรือไม่ ทำให้ปี 2025 เป็นปีที่เต็มไปด้วยบททดสอบสำคัญ 

ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชัยชนะหลังจากได้คะแนนนำ คามาลา แฮร์ริส ณ เมืองเวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2024

ด้านผู้เชี่ยวชาญมองว่าในปีนี้มีประเด็นที่น่าจับตาทั้งการเมืองโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้ง การมืองสหรัฐฯ ที่ได้ผู้นำคนใหม่ สงครามรัสเซียยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงความตึงเครียดบริเวณคาบสมุทรเกาหลี 
 

“...เรื่องพวกนี้กลายเป็นเรื่องที่ท้าทายสหรัฐฯ และคนกำลังเฝ้าดูอยู่ว่า ถ้าคุณทรัมป์ทำไม่ได้ใครจะทำ…และทุกคนเห็นด้วยว่าวิธีที่คุณทรัมป์ทำน่าจะพอไปได้ ถ้าไม่ได้จบปีหน้าโลกก็จะวิกฤต มากขึ้นอีกแต่ถ้าทำได้เราก็จะเห็นอเมริกันกลับเข้ามา” 

รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ กล่าว

รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ

ส่วนในแง่มุมของประเทศไทย ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ นับเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่จะต้องรับมือและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในหลากหลายแง่มุมทั้งในด้านความมั่นคงและการลงทุน

ด้านเอเชียต้องจับตาการคานอำนาจของชาติยักษ์ใหญ่ และอาจอยู่ภายใต้ศูนย์กลางของอำนาจอเมริกันอีกครั้ง 

จุดวาบไฟไต้หวัน อาจนำไปสู่สงคราม

ส่วนความตึงเครียดที่ถูกจับตาคือประเด็นจีน-ไต้หวัน ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ในระยะยาวไต้หวันต้องการอยู่ร่วมกับจีนอย่างสันติ และไม่ต้องการเผชิญหน้ากับจีน แต่ก็ชัดเจนเช่นกันว่าไต้หวันไม่ต้องการกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ 

ภาพจากวิดีโอที่เผยแพร่โดย PLA เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2024 แสดงให้เห็นเครื่องบินขับไล่ทะยานขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิง ระหว่างการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน "Joint Sword-2024B" Credit: AFP PHOTO / CHINA'S PEOPLE'S LIBERATION ARMY (PLA) EASTERN THEATRE COMMAND

ภาพจากวิดีโอที่เผยแพร่โดย PLA เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2024 แสดงให้เห็นเครื่องบินขับไล่ทะยานขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิง ระหว่างการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน "Joint Sword-2024B" Credit: AFP PHOTO / CHINA'S PEOPLE'S LIBERATION ARMY (PLA) EASTERN THEATRE COMMAND

ในแต่ละปีจีนมีทีท่าที่ถูกตีความว่าเข้าใกล้การยึดครองไต้หวันมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการซ้อมรบใกล้เกาะไต้หวัน ล้ำเส้นมัธยฐาน

ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญมองว่าสงครามโลกครั้งที่สามนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นจากจุดเล็ก ๆ เช่นบริเวณนี้ หากเกิดการผิดพลาดด้านบริหาร ซึ่งคล้ายคลึงกับสงครามโลกสองครั้งที่ผ่านมา ซึ่งประเทศหรือดินแดนขนาดเล็ก ก่อให้เกิดปัญหาซึ่งประเทศใหญ่ถอยไม่ได้ ก็เลยต้องเข้าสู่สมรภูมิ 
 

 “ประวัติศาสตร์ย้อนกลับมาและเริ่มต้นใหม่” 

ผู้คุมเทคโนโลยี กุมอำนาจ

นอกจากความเป็นไปได้ในการเกิดสงครามครั้งใหม่ข้างต้น ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งที่อาจนำไปสู่ชนวนในการเกิดสงครามโลกครั้งที่สาม คือ ไม่ทราบว่าฝ่ายใดอยู่เบื้องหลังการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ อาจเกิดการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งการโจมตีรูปแบบดังกล่าวยังไม่เป็นที่คุ้นชินมากนัก 

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อ 30 ธ.ค. 2024 อ้างถูกโจมตีทางไซเบอร์โดยกลุ่มแฮกเกอร์ที่จีนให้การสนับสนุน (แฟ้มภาพ) อาคารกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

สอดคล้องกับการรายงานของ World Economic Forum ที่ชี้ว่า ปัจจุบันนักวิชาการเพิ่งเริ่มทำความเข้าใจกับปัญญาประดิษฐ์ได้ไม่นาน แม้ว่าเทคโนโลยีเอไอจะมาพร้อมกับโอกาส แต่ในขณะเดียวกันก็อาจก่อให้เกิดช่องว่างทางสังคม และนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมได้ ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอไอที่ล้ำสมัย เปรียบเสมือนผู้กุมอำนาจ 

สงครามข่าวสารอาจบานปลาย กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

ผศ.ดร.อาทิตย์ ทองอินทร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นว่า ท่ามกลางสงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อ การเสพข้อมูลข่าวสารของผู้คนเป็นสิ่งสำคัญ สงครามที่เกิดขึ้นขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกลางหรือรัสเซียยูเครนมีหลายลักษณะข้อมูลผสมกัน หนึ่งในนั้นคือสงครามข้อมูลข่าวสาร แต่ละฝ่ายสร้างข้อมูลข่าวสารเพื่อกุมความได้เปรียบ นับเป็นการกำหนดภาพลักษณ์ในสื่อออนไลน์ 
 

ผศ.ดร.อาทิตย์ ทองอินทร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ในส่วนของประเทศไทยมีผู้สนับสนุนแต่ละฝ่ายแตกต่างกันไป ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว แต่หากเกิดบ่อยขึ้นก็อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะระดับประชาชนกับประชาชน เช่นในแง่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดอคติต่อกัน ทำให้ต้องคำนึงอยู่เสมอว่าการกระจายข้อมูลข่าวสารของแต่ละฝ่ายเปรียบเสมือนเครื่องมือการรบในปัจจุบัน เพื่อคงความได้เปรียบ หรือบั่นทอนทางจิตวิทยา เป็นเรื่องดีที่สังคมให้ความสำคัญกับข่าวสาร แต่อาจต้องใช้ความระมัดระวังในการเสพข่าวมากขึ้น

ระเบียบโลกใหม่ กับสามขั้วอำนาจ 

“เรื่องแรกคือการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจ ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าสหรัฐอเมริกาไม่ใช้ขั้วอำนาจเดียวทางการทหารอีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่หลายขั้วอำนาจ แต่จะมี 3 ขั้วอำนาจหลัก คือ 3 มหาอำนาจหลังที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง และแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ในทุกสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน”  

ผศ.ดร.อาทิตย์ ทองอินทร์ ยังให้ความเห็นว่า แม้ในวันนี้เรายังเห็นรัสเซียกับจีนเป็นพันธมิตรกันอยู่ แต่ตามทฤษฎี หากเป็น 3 ขั้วอำนาจจริง ก็มีความเป็นไปได้ว่าอเมริกาภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ในอีกไม่นานนี้ อาจพยายามดึงรัสเซียออก และอาจทำให้รัสเซียกับจีนเกิดความขัดแย้งกันในบางกรณี เช่น ปัญหาทะเลจีนใต้

การพบกันครั้งแรกระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ทั้งคู่จับมือกันระหว่างการประชุม G20 ที่เยอรมนี เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2017

ในสภาสาวะที่ดุลอำนาจโลกยังไม่นิ่งอาจทำให้การแข่งขัน และในหลายครั้งทำให้เกิดการใช้เครื่องมือเช่นการทำสงคราม หรือการขู่กันด้วยอาวุธร้ายแรง นับเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความสงบได้ยาก 

ภาพจากวิดีโอที่เผยแพร่โดยกระทรวงกลาโหมรัสเซียเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2024 แสดงให้เห็นการปล่อยขีปนาวุธข้ามทวีป ระหว่างการซ้อมรบของกองกำลังป้องปรามยุทธศาสตร์ Credit: AFP PHOTO / Russian Defence Ministry

“ประเด็นแรกคือดุลอำนาจกำลังจะเปลี่ยน ประเด็นที่สองคือระเบียบโลกเดิมได้ล่มสลายไปโดยสิ้นเชิง” 

อาจารย์อาทิตย์กล่าวต่อว่า ระเบียบโลกเดิมในที่นี้ คือระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่รัฐอธิปไตยจะไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน ปกป้องมนุษยชน และมนุษยธรรมระหว่างประเทศ รวมถึงพลเรือนต้องปลอดภัยหากเกิดการสู้รบ แต่ระเบียบเหล่านี้กลับไม่ได้รับการปกป้อง 

ส่วนองค์กรที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างสหประชาชาติ กลับไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าระเบียบโลกใหม่กำลังก่อตัวขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะออกมาในรูปแบบใด ทำให้ปี 2025 เป็นปีที่สำคัญต่อประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลก 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS WORLDทันโลกกับ Thai PBSสหรัฐฯโดนัลด์ ทรัมป์วลาดิเมียร์ ปูตินจีนสีจิ้นผิง
มินนี่ นัฐชา กิจโมกข์
ผู้เขียน: มินนี่ นัฐชา กิจโมกข์

“มินนี่” ชอบ “เมาท์” เรื่องต่างประเทศ รักเปียโน กีตาร์ และเพลงแจ๊ส เป็นพี่สาวแมวสองตัวชื่อโมเนต์กับมิวทู <3

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด