เหตุการณ์ไฟป่าในลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังคงลุกลามสร้างความเสียหายต่อเนื่อง ปะทุความหวาดหวั่นให้กับผู้คนทั่วโลก ซึ่งการเกิดไฟป่าแน่นอนว่าย่อมก่อให้เกิดควันจากการเผาไหม้ตามมา โดยคาดว่าประชาชนหลายล้านคนน่าจะได้รับผลกระทบจากควันที่เกิดจากไฟป่าในเขตเมืองครั้งนี้ และมีประเด็นสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาก่อนเปิดเผยว่า องค์ประกอบของ “ควัน” จากไฟป่าในเขตเมืองมีความอันตรายมากกว่าควันไฟป่าทั่วไป
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ไฟป่าทั่วไปจะมีเชื้อเพลิงเป็นต้นไม้และพืชพรรณต่าง ๆ แต่ไฟป่าในเขตเมืองจะเผาไหม้อาคาร ยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค โรงงานอุตสาหกรรมซึ่งผลิตสารเคมีและวัสดุต่าง ๆ ส่งผลให้ “ควัน” ที่เกิดขึ้นเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงและเร่งด่วนต่อชุมชนท้องถิ่นที่ต้องรีบคิดหาทางจัดการแก้ไข ก่อนส่งผลกระทบอย่างมหาศาลเป็นวงกว้าง
ในปี 2023 นักวิจัยจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA) ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากการวิเคราะห์ “ควัน” ที่ปล่อยออกมาจากเหตุไฟป่าในเขตเมืองจำนวน 28 ครั้ง โดยเปรียบเทียบกับองค์ประกอบทางเคมีของการปล่อยควันจากไฟป่า ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าไฟป่าทั้งสองประเภทปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ร้ายแรง
แต่ควันจากไฟป่าในเขตเมืองจะมีสารอันตรายอื่น ๆ ในปริมาณเข้มข้นเป็นจำนวนมาก เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง โดยอาจปล่อยมลพิษที่สูงกว่าควันจากไฟไหม้ป่าถึง 3 เท่าเลยทีเดียว
ทั้งนี้ PAHs พบได้ตามธรรมชาติในถ่านหิน น้ำมันดิบ น้ำมันเบนซิน นอกจากนี้ยังพบได้ในควันบุหรี่ โดยมีความเชื่อมโยงกับความผิดปกติของเลือดและตับ
ขณะที่ ระดับของสารเคมีอันตรายประเภทอื่น ๆ เช่น ไดออกซิน, ฟิวแรน (Dioxin, Furans) ในควันไฟในเขตเมืองนั้นสูงกว่าในกองไฟที่เผาไหม้ด้วยพืชพรรณถึง 5-6 เท่า โดยสารเหล่านี้เคยได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไปขัดขวางการควบคุมฮอร์โมน ยับยั้งการเจริญพันธุ์ และก่อให้เกิดมะเร็ง
นอกจากนี้ ยังพบพิษของสารทำละลายอินทรีย์ เช่น เบนซีน (Benzene), โทลูอีน (Toluene), เอทธิลเบนซีน (Ethylbenzene) และ ไซลีน (Xylene) เรียกรวมแบบย่อว่า “BTEX” (เป็นสารอินทรีย์ระเหยง่ายในกลุ่มของสารไฮโดรคาร์บอน มีอยู่ในน้ำมัน เชื้อเพลิง จัดได้ว่าเป็นสารเคมีที่มีการใช้มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง โดยใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมประเภทปิโตรเคมี พลาสติกและโพลิเมอร์) มีความเข้มข้นสูงขึ้นในควันที่ปล่อยออกมาจากไฟไหม้ในเมือง โดยสารเคมีอันตรายเหล่านี้ยังปรากฏอยู่ในไอเสียจากรถยนต์และควันบุหรี่อีกด้วย ซึ่งเชื่อมโยงกับโรคมะเร็งและโรคภูมิต้านทานตัวเอง
เมื่อพิจารณาจากความหลากหลายของวัสดุที่ถูกเผาไหม้ในเขตเมือง จึงไม่น่าแปลกใจที่ไฟป่าเช่นที่ “ลอสแอนเจลิส” จะปล่อยสารเคมีอันตรายหลายชนิดออกมา นอกจากนี้ยังมีสารเคมีอื่น ๆ อีกจำนวนมากที่ทำให้เกิด “ฟอสจีน” (phosgene) เช่น ฟอสจีนเกิดจากพลาสติกถูกเผาไหม้ อาจทำให้ปอดเสียหายและหายใจล้มเหลวได้ ในขณะที่โลหะหนัก เช่น ตะกั่ว โครเมียม แคดเมียม และสารหนู จะถูกปล่อยสู่บรรยากาศในระหว่างที่เกิดไฟไหม้ในเขตเมืองเช่นกัน
ทั้งนี้ เป็นเรื่องยากที่จะระบุได้อย่างแน่ชัดว่า “มลพิษทางอากาศ” จากไฟป่าในปัจจุบันจะมีความรุนแรงเพียงใด หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนอย่างไรบ้าง แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า “ควัน” จากไฟป่าสามารถลอยไปเป็นระยะทางไกลและส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ห่างออกไปได้หลายพันกิโลเมตร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลให้ไฟป่าเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนจึงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ถึงเวลาหรือยังที่พวกเราทุกฝ่ายจะร่วมกันลดโลกร้อนกันอย่างจริงจัง...
อ่าน : ทำไมโลกยุคใหม่จึงล้มเหลวในการดับ “ไฟป่า” ?
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : iflscience
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech