ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจสอบพบ : เพจปลอมลงโฆษณาแจกต้นไม้ฟรี พบคนดูหลักล้าน


Verify

14 ม.ค. 68

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

ตรวจสอบพบ : เพจปลอมลงโฆษณาแจกต้นไม้ฟรี พบคนดูหลักล้าน

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2165

ตรวจสอบพบ : เพจปลอมลงโฆษณาแจกต้นไม้ฟรี พบคนดูหลักล้าน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

Thai PBS Verify พบเพจเฟซบุ๊กชื่อ "Amazing Hot Deals" ลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กอ้างเป็น "สมาคมคนรักต้นไม้" และ "สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยแจกกล้าไม้" แต่จากการตรวจสอบ พบมีการใช้ภาพจากที่อื่นมาแอบอ้าง เตือนระวังอย่าหลงเชื่อ อาจเสี่ยงถูกลวงข้อมูลส่วนตัว-เสียทรัพย์

แหล่งที่มา : Facebook

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงโฆษณาเพจเฟซบุ๊กปลอม

กระบวนการตรวจสอบ

จากการตรวจสอบพบว่า เฟซบุ๊กชื่อ "Amazing Hot Deals" ลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กอ้างเป็น "สมาคมคนรักต้นไม้" และ "สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยแจกกล้าไม้" โดยในโฆษณาดังกล่าวอ้างว่า "ต้นไม้ฟรี 18 ชนิดไม่ต้องลงทะเบียน รับต้นไม้ได้ไม่เกิน 1,000 ต้น/ปี รับได้เลยวันนี้จัดส่งทั่วไทย ฟรี ร่วมใจปลูกต้นไม้เพื่อโลกที่หน้าอยู่ขึ้นที่บ้านคุณสมาคมคนรักต้นไม้" ทำให้มีผู้คนสนใจคลิกดูวิดีโอดังกล่าวไปกว่า 1.2 ล้านครั้ง รวมถึงกดแสดงความรู้สึกถึง 6,800 ครั้ง และสอบถามเข้าไปเกือบ 4,000 คนด้วยกัน

ภายในเพจดังกล่าวพบว่า เพจดังกล่าวมีผู้ติดตามถึง 12,000 คน มีการแนะนำตัวว่า "ยินดีต้อนรับสู่โลกสีเขียว เนื่องจากแชตทางแฟนเพจมีผู้ที่ติดต่อเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถแยกเลขพัสดุเป็นรายบุคคลได้ ทางเราจึงต้องคัดกรองบุคคล และเพื่อความสะดวกในการรับและติดตามพัสดุรบกวนแอดไลน์เข้ามานะคะ"

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพหน้าเพจเฟซบุ๊กปลอม

นอกจากนี้ระบุว่าเป็นเว็บบล็อกส่วนตัว ซึ่งเมื่อตรวจสอบต่อไปยังข้อมูลติดต่อและข้อมูลพื้นฐานพบว่า มีการตั้งค่าว่าเป็นบริการแบบรับประทานในร้าน - ที่นั่งกลางแจ้ง

ขณะที่ความโปร่งใสของเพจพบว่า ถูกสร้างมาตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2020 โดยใช้ชื่อ "Jayson Alegre TV" ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น "Amazing Hot Deals" ล่าสุดเมื่อ 25 กรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา โดยที่ผู้จัดการเพจดังกล่าว ถูกระบุว่าอยู่ในประเทศเวียดนาม

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงความโปร่งใสของเพจดังกล่าวพบถูกเปลี่ยนชื่อมาแล้วถึง 3 ครั้ง

ส่วนเนื้อหาภายในเพจเราพบว่ามีการโพสต์ขายต้นไม้พันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งเมื่อทำการตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ Google Lens เราพบว่า ภาพที่มีการโพสต์ขายต้นหอมหมื่นลี้ ในราคา 2 ต้น 199 บาท กลับไปตรงกับภาพจากแอปพลิเคชันขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งขายอยู่ในราคา 140 บาท
ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพจากเพจปลอม (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ ภาพจากแอปพลิเคชันขายสินค้าออนไลน์ (ขวา)

เช่นเดียวกับโพสต์แจ้งรอบจัดส่งสินค้าของเพจ เราทำการตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ Google Lens และพบว่ามีการนำภาพมาจากเฟซบุ๊ก "สวนฉวีวรรณพันธุ์ไม้ จำหน่ายกล้าไม้ป่าเศรษฐกิจทุกชนิด จ.ยโสธร"

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงโพสต์จากเพจปลอม (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ ภาพจากโพสต์ของสวนฉวีวรรณพันธุ์ไม้ จำหน่ายกล้าไม้ป่าเศรษฐกิจทุกชนิด จ.ยโสธร (ขวา)

เราสอบถามไปยังเพจ "สวนฉวีวรรณพันธุ์ไม้ จำหน่ายกล้าไม้ป่าเศรษฐกิจทุกชนิด จ.ยโสธร" และได้รับการยืนยันว่าถูกนำภาพจากสวนไปจริง โดยทางสวนได้ทักไปสอบถามกับเพจปลอม แต่กลับถูกเพจดังกล่าวบล็อก จึงได้โพสต์เตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพโพสต์สวนฉวีวรรณพันธุ์ไม้ จำหน่ายกล้าไม้ป่าเศรษฐกิจทุกชนิด จ.ยโสธร เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ

นอกจากนี้เรายังลองสอบถามเข้าไปทางช่องแชตส่วนตัว โดยเพจดังกล่าวมีการตอบกลับมาว่า "ขออนุญาตขอข้อมูลเบื้องต้นก่อนนะคะ ส่งข้อมูลมาตามนี้ได้เลยค่ะ จังหวัด : เบอร์โทร : อายุ"

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพเพจปลอมที่พยายามขอข้อมูลเบื้องต้นผ่านช่องข้อความ

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

โพสต์ดังกล่าว ถือว่ามีผู้สนใจชมไปถึง 1.2 ล้านครั้งด้วยกัน โดยมีประชาชนที่สนใจส่งข้อความสอบถามจำนวน 3,800 ครั้ง ซึ่งผู้ที่สอบถามส่วนใหญ่ต่างสนใจในรายละเอียดของการรับต้นไม้ฟรี จึงอาจทำให้ถูกหลอกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ หรือเสี่ยงถูกหลอกให้สูญเสียทรัพย์ได้

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงความคิดเห็นภายในโฆษณาของเพจปลอม

ข้อแนะนำเมื่อพบกับโฆษณาในลักษณะนี้

หากพบหรือเผลอส่งข้อมูลส่วนตัวให้กับกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ มีข้อควรพึงระวังไว้ดังนี้

✅สังเกตว่าเพจมีการเปลี่ยนชื่อเพจไปเรื่อย ๆ หรือไม่

✅สังเกตการว่าเพจดังกล่าวมีคนกดโกรธหรือไม่ เพราะมิจฉาชีพสามารถลบข้อความหรือบล็อกเราได้ แต่ไม่สามารถลบการแสดงความรู้สึกของเราได้

✅อย่าเชื่อคำโฆษณา โดยเฉพาะการแจกของสมนาคุณ หรือการทำภารกิจเพื่อรับเงินค่าตอบแทน

✅บล็อกเบอร์โทรศัพท์ หรือไอดีไลน์ที่เพิ่มเพื่อนเข้ามาเหล่านั้นทันที

✅พึงระลึกไว้เสมอว่า คนเหล่านี้คือมิจฉาชีพ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เพจปลอมข่าวปลอมหลอกลวงมิจฉาชีพต้นไม้โฆษณาหลอกลวงหลอกขายสินค้า
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด